เชื่อเลยว่าในสถานการณ์แบบนี้ใครหลายคนอาจต้องอยู่ที่บ้านและไม่ค่อยได้ออกไปไหน วันนี้ Fazwaz จึงอยากชวนทุกคนมาปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองที่บ้านกันค่ะ เพราะประโยชน์ของการปลูกผักไว้ทานเองนั้นมีมากมายเลยละค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยลดความเสี่ยงจากการออกไปสัมผัสกับเชื้อโรคภายนอก ช่วยเสริมสร้างความผ่อนคลายจากความเครียด เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน อีกทั้งยังเชื่อมั่นได้ว่าผักที่เราปลูกนั้นไม่ได้เคลือบสารเคมีหรือสารพิษมาอย่างแน่นอน และนอกจากนี้แล้วการทานผักนั้นจะช่วยเสริมการขับถ่ายให้เป็นไปอย่างปกติอีกด้วยค่ะ เพราะผักมีไฟเบอร์สูงซึ่งดีต่อสุขภาพร่างกายมาก ๆ เลยค่ะ เริ่มสนใจปลูกผักแล้วใช่ไหมเอ่ย ดังนั้นลองมาดู 4 ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ที่กำลังจะปลูกผักสวนครัวในพื้นที่บ้านของตัวเองกันเลยค่า

1. เลือกตำแหน่งที่จะปลูกผักสวนครัว

ตำแหน่งที่จะปลูกผักสวนครัว
ตำแหน่งที่จะปลูกผักสวนครัว

สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮ้าส์ ส่วนใหญ่แล้วจะมีพื้นที่เหลือบริเวณรอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บริเวณหน้าบ้าน บริเวณข้างบ้าน หรือบริเวณหลังบ้าน ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยภายในคอนโดจะมีพื้นที่บริเวณระเบียงห้องที่สามารถปลูกผักสวนครัวไว้ทานเองได้ โดยบริเวณที่จะปลูกผักนั้นควรเป็นตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงแปลงผักตลอดทั้งวัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผักสวนครัวต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโตมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้ผักเจริญเติบโตและงอกงามดี อีกทั้งยังทำให้มีรสชาติอร่อยอีกด้วย และที่สำคัญตำแหน่งแปลงผักสวนครัวที่ดีควรตั้งหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นทิศที่เปิดรับแสงแดดส่องผ่านมายังผักสวนครัวของคุณตลอดทั้งวันทำให้แปลงผักได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่นั่นเอง

2. เลือกขนาดแปลงปลูกผักสวนครัวที่เหมาะสม

ขนาดแปลงปลูกผักสวนครัวที่เหมาะสม
ขนาดแปลงปลูกผักสวนครัวที่เหมาะสม

เมื่อเลือกตำแหน่งหรือบริเวณสำหรับการปลูกผักเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเราจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่ในบ้านและเลือกขนาดของแปลงปลูกผักสวนครัว โดยคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ที่อยู่ในบ้านของคุณเป็นหลัก และหากคุณยังไม่เคยปลูกผักมาก่อน ทางเราขอแนะนำว่าให้เริ่มต้นปลูกผักด้วยแปลงขนาดเล็กก่อนค่ะ เพราะการปลูกผักสวนครัวนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อให้ผักสวนครัวของคุณเจริญเติบโตและงอกงามจนสามารถนำมารับประทานได้ ทั้งนี้ขนาดของแปลงปลูกผักสวนครัวที่เราแนะนำคือขนาดประมาณ 16×10 ฟุต

3. การเตรียมดินในการปลูกผักสวนครัว

เตรียมดินในการปลูกผักสวนครัว
เตรียมดินในการปลูกผักสวนครัว

สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการปลูกผักสวนครัวอีกอย่างหนึ่งคือ การเตรียมดินปลูกผัก ซึ่งพืชผักสวนครัวส่วนใหญ่แล้วต้องการดินที่มีความร่วนซุยเพื่อให้รากของผักสามารถทะลุผ่านดินได้ง่าย อีกทั้งยังมีเคล็ดลับที่จะทำให้พืชผักสวนครัวเจริญงอกงามได้ดีคือ การผสมปุ๋ยลงไปในดินเพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับดิน และผสมเศษพืชสดหรือวัชพืชลงไปในดินเพื่อใช้ในการปรับปรุงดินให้ดีขึ้น และการใส่ไส้เดือนลงไปก็จะช่วยพรวนดินให้แปลงปลูกผักของคุณไปในตัว ในขณะเดียวกันไส้เดือนก็จะสามารถกินเศษพืชผักที่ใส่ลงไปในดินได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้วแปลงปลูกผักที่ดีจำเป็นต้องมีการระบายน้ำที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีน้ำที่ขังไว้ในดินมากเกินไป

4. การเลือกชนิดผักสวนครัวที่จะนำมาปลูก

เลือกชนิดผักสวนครัวที่จะนำมาปลูก
เลือกชนิดผักสวนครัวที่จะนำมาปลูก

นอกจากการวางแผนเรื่องดินให้ดีแล้ว การเลือกพันธุ์ของพืชผักสวนครัวที่จะนำมาปลูกนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยผักสวนครัวที่คุณจะนำมาปลูกนั้นควรเป็นผักที่ปลูกง่าย สามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้หลายชนิดและบ่อยครั้ง สำหรับมือใหม่เราจึงขอแนะนำพันธุ์พืชที่สามารถปลูกได้ง่าย ได้แก่ ตะไคร้ กะเพรา พริก โหระพา ขิง ข่า หอม สะระแหน่ มะกรูด ผักบุ้ง คะน้า และตำลึง โดยทางเราขอยกตัวอย่างการปลูกดังนี้

– ผักบุ้ง เป็นผักที่ปลูกง่ายมาก อีกทั้งยังเจริญเติบโตเร็ว ดูแลรักษาก็ง่าย และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้แล้วผักบุ้งยังขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดอีกด้วย ดังนั้นการปลูกสามารถทำได้โดยนำก้านผักบุ้งที่เก็บมาแช่น้ำไว้จนมีรากงอกเพียง 2-3 วัน จากนั้นนำมาปลูกลงในแปลง และควรหมั่นรดน้ำบ่อย ๆ เพราะผักบุ้งชอบดินที่มีความชื้นสูง ผักบุ้งสามารถเก็บเกี่ยวมาประกอบอาหารได้ในระยะเวลาเพียง 1-2 อาทิตย์

ผักบุ้ง
ผักบุ้ง

– พริก ให้หยอดเมล็ดพริกลงในหลุมดินร่วนซุย ประมาณ 3-5 เมล็ดต่อหลุม แล้วกลบดินและรดน้ำ พริกถือว่าเป็นพืชที่ทนต่อพื้นดินแล้งน้ำได้ดีกว่าทนน้ำขัง การดูแลช่วง 3 วันแรกควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และค่อย ๆ ลดลงจนผ่านไป 7 สัปดาห์ จึงรดน้ำเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พริกจะเริ่มเก็บผลผลิตได้หลังจาก 75- 90 วัน

พริก
พริก

– ตะไคร้ นำต้นตะไคร้ที่ตัดใบออกแล้วมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน เพื่อให้รากงอก โดยรากที่แก่เต็มที่จะมีสีเหลือง จากนั้นให้นำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ โดยปลูกในดินร่วนซุยลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ในพื้นที่ที่มีแสงแดดครึ่งวัน หลังจากนั้นให้รดน้ำ 1-2 วันต่อครั้ง ประมาณ 90 วัน ตะไคร้ก็จะสามารถนำมาปรุงอาหารได้

ตะไคร้
ตะไคร้

เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านแล้วอยากปลูกผักสวนครัวไว้ทานเองกันบ้างไหมเอ่ย ถ้าชอบแล้วเห็นว่ามีประโยชน์รีบไปจัดการเลยนะคะ ใครปลูกก่อนคนนั้นได้กินก่อนนะคะ