ธุรกิจโรงแรมใน กทม. และหัวเมืองท่องเที่ยวไปต่อไม่ไหว ประกาศขายกิจการผ่านนายหน้ามืออาชีพ

ฟีนิกซ์ฯเผยหลังจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทั้งไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่กันมาตั้งแต่ต้นปีนี้ พบว่ามีธุรกิจโรงแรมหลายแห่งแบกรับภาระต่อไปไม่ไหว ประกาศขายกิจการผ่านตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันอย่างมากมาย สำหรับโรงแรมที่เจรจาซื้อขายผ่านฟีนิกซ์อยู่ด้วยกันกว่า 10 ราย ทั้งในพื้นที่กทม. – หัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ โดยมีมูลค่ารวมถึง 1,000 ล้านบาท ระบุกองทุนรวมฯ พร้อมซื้อของถูกในช่วงปลายปี ด้านกลุ่มธุรกิจอื่นสนใจเทกโอเวอร์เพื่อขยายไลน์ธุรกิจเพิ่มเติม ขณะที่นักลงทุน Gen Z ร่วมลงขันซื้อกิจการมาบริหารเอง ล่าสุดเตรียมเปิดประมูล สมุยบุรี บีช รีสอร์ท” 11 ก.พ.64 นี้

ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ประธานกรรมการ บริษัท ฟีนิกซ์ 1010 โฮลดิ้ง จำกัด

ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ประธานกรรมการ  บริษัท ฟีนิกซ์ 1010 โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรชื่อดัง ได้เผยถึงสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยว่าจะต้องใช้เวลาในการพลิกฟื้นอีกหลายปีกว่าจะกลับมาฟื้นตัวเพราะว่าธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 และถูกกระทบอย่างหนักเมื่อโควิด-19 ระบาด จึงส่งผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทรวมถึงธุรกิจโรงแรมด้วย เพราะด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่หายไปเป็นจำนวนมาก ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยระมัดระวังในการเดินทาง ส่งผลให้รายได้จากการเข้าพักลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย ทำให้โรงแรมที่แบกรับภาระไม่ไหวเริ่มประกาศขายกิจการผ่านตัวแทนขายเป็นจำนวนมาก

สำหรับโรงแรมที่เจรจาผ่านเฉพาะบริษัทฟีนิกซ์ฯในปัจจุบัน มีมากกว่า 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว อาทิ พัทยา สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ มูลค่าตั้งแต่หลัก 100-1,000 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่เน้นลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก โรงแรมระดับ 3-5 ดาว รวม 1,000-1,500 ห้อง ในจำนวนดังกล่าวเป็นโรงแรมที่เพิ่งเปิดให้บริการสัดส่วนประมาณ30%

ขณะนี้ได้มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่างๆให้ความสนใจที่จะซื้อธุรกิจโรงแรม ในราคาที่ถูกลง แล้วนำมาปรับปรุงให้โรงแรมมีสภาพที่ดี และถือครองโรงแรมไปอย่างน้อย 4-5 ปีแล้วค่อยจำหน่ายออกไป โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4/2563 นี้ เจ้าของโรงแรมต่างๆที่ประกาศขายในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อหวังผลกำไรก่อนหน้านี้ เช่น เดิมตั้งราคาขายไว้ที่ 900 ล้านบาทแต่ไม่มีผู้ใดซื้อ จึงมีการปรับลดราคาลงมาเหลือเพียง 200 ล้านบาท ก็ยังไม่มีผู้ซื้อกิจการอีก  โดยกองทุนเหล่านี้เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมีโรงแรมต่างยอมลดราคาขายที่ถูกลงกว่านี้อย่างแน่นอน

“ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด โรงแรมแต่ละแห่ง ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลแต่เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจโรงแรมยังต้องมาเผชิญกับการแข่งขันในเรื่องการลดราคาลงมาไม่ต่ำกว่า 40-50% เพื่อดึงลูกค้าในประเทศให้เข้าพักมากที่สุด แต่ก็มีหลายแห่งที่ไปไม่รอดต้องประกาศขายกิจการ”ดร.ปฏิมา กล่าว

โรงแรม สมุยบุรี บีช รีสอร์ท

โดยล่าสุดที่โรงแรม “สมุยบุรี บีช รีสอร์ท” (Samui Buri Beach Resort) ซึ่งปัจจุบันถือกรรมสิทธิ์โดย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สมุยบุรี  (SBPF) ซึ่งมีธนาคารออมสิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 24.15%  ตั้งอยู่บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ประมาณ 13 ไร่เศษ โดยมีสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วย อาคาร 2 ชั้น 1 อาคารที่จัดไว้เป็นส่วนต้อนรับ ,อาคาร 4 ชั้น จำนวน 2 อาคาร โดยมีห้องพักทั้งหมด 60 ห้อง และพูลวิลล่า 28 หลังรวม 88 ห้อง และผู้ดำเนินการจัดการประมูลในครั้งนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด โดยกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่ 400 ล้านบาท และกำหนดวันประมูลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

โรงแรม สมุยบุรี บีช รีสอร์ท

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะหายไปเป็นจำนวนมากในภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งหมดประมาณ 6-7 ล้านคนในปีนี้ จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวประมาณเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งในภาวะปกติแล้วธุรกิจโรงแรมหากจะมีรายได้ที่พอกับค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องมีอัตราการเข้าพักประมาณ 30-40 %

ก่อนหน้านี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สมุยบุรี (SBPF) รายงานผลการดำเนินงานงวด 3 เดือน สิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,671,089 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิจำนวน 326,531 บาท คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงลดลงในสินทรัพย์สุทธิจากการดำเนินงาน 611.77% เนื่องจาก กองทุนฯ ได้ตั้งค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิต ของลูกหนี้ค่าเช่าค้างรับ จำนวน 2 ล้านบาท และบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ สำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าว

โดยในปัจจุบัน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เริ่มไม่ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ออกกองทุน หรือ ผู้ลงทุน เนื่องจากมีข้อจำกัดในกลุ่มผู้ซื้อภายในประเทศ ขณะที่ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ส่งเสริมตลาดกองทุนรวมอสังหาฯมากนัก แต่ให้น้ำหนักกับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นกว่า