เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป เจ้าของสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน อพาร์ทเม้นท์ และคอนโดมิเนียม ที่ถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ นับจากวันที่ 1 มกราคม ในแต่ละปี จะต้องเสียภาษีที่ดิน ตามกฎ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในบางกรณีอาจจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี รวมทั้งอาจจะมีการประกาศลดภาษีเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2563 รัฐได้ปรับลดภาษีที่ต้องจ่ายถึง 90 % เนื่องจากต้องการบรรเทาภาระภาษีของประชาชนจากสถานการณ์ Covid-19

สำหรับผู้ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำนวนมากกว่า 2 แห่ง หรือมีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และที่ดินรกร้าง จำเป็นจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า ดังนั้น ทาง Fazwaz.co.th จึงได้รวบรวมเทคนิคต่าง ๆ ให้คุณได้ทำความเข้าใจและเพื่อเป็นตัวช่วยในการลดการจ่ายภาษีให้น้อยลง ดังนี้

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2564

อัตราการเก็บภาษีที่ดิน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ เช่น เพื่อการเกษตรกรรม, บ้านพักอาศัย, อื่น ๆ (พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม) และที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยจะคิดอัตราภาษีในลักษณะขั้นบันไดเพิ่มขึ้นตามมูลค่าราคาประเมิน ดังรูป

ภาพจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
  • กรณีที่มีบ้านหรือคอนโดมิเนียม หลายแห่ง
    ในกรณีที่มีบ้านหรือคอนโดมิเนียมหลายแห่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า จะได้รับยกเว้นการจ่ายภาษีเฉพาะบ้านหลังหลัก หลังเดียวที่มีชื่อเจ้าของบ้านอยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น ส่วนบ้านหลังที่ 2 ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไรก็ตาม ก็จำเป็นต้องจ่ายภาษีเหล่านั้น ดังนั้น หากต้องการที่จะประหยัดการจ่ายภาษีให้น้อยลง สามารถใช้วิธีต่อไปนี้ โดยต้องดำเนินการก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564
    1. ให้ย้ายชื่อตนเองไปอยู่ในทะเบียนบ้านที่มีราคาแพงที่สุด
    2. โอนอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นชื่อของคนในครอบครัว (ในกรณีที่บุคคลนั้นยังไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ )
  • กรณีมีที่ดินเปล่าหรือที่ดินรกร้าง
    ที่ดินรกร้าง

    ที่ดินเปล่าหรือที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง คือ 0.3 % ในทุก ๆ 3 ปี จึงแนะนำว่าหากบุคคลที่ถือครองที่ดินเปล่า และต้องการประหยัดการจ่ายภาษีให้ปฏิบัติ ดังนี้
    1. เปลี่ยนที่ดินเปล่าให้เป็นที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรรม เพราะที่ดินสำหรับการทำเกษตรกรรมจะเสียภาษีถูกที่สุด หรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลย เนื่องจากเป็นที่ดินที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งที่ดินเกษตรกรรมจะต้องมีการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดไว้ เช่น
    – กล้วย ขั้นต่ำ 200 ต้น/ไร่
    – ทุเรียน ขั้นต่ำ 20 ต้น/ไร่
    – ยางพารา ขั้นต่ำ 80 ต้น/ไร่
    – มะพร้าวอ่อน ขั้นต่ำ 20 ต้น/ไร่
    2. แบ่งแปลงที่ดินให้มีขนาดเล็กลง หรือแบ่งโอนให้กับสมาชิกภายในครอบครัว
    3. แบ่งที่ดินเกษตรกรรมให้กระจายอยู่คนละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    4. เปลี่ยนให้เป็นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
    5. ให้นิติบุคคลถือครองอสังหาริมทรัพย์แทนบุคคลธรรมดา ในกรณีนี้ นิติบุคคลอาจจะต้องจ่ายภาษีในอัตราเต็มและไม่ได้รับข้อยกเว้น แต่สามารถนำภาษีที่จ่ายแล้วไปหักเป็นรายจ่ายของบริษัท เพื่อลดหย่อนภาษีได้ในทุกปี
    6. เปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น จะได้รับยกเว้นภาษี ในกรณีที่เจ้าของยินยอมให้ราชการใช้ และสามารถลดภาษีได้ถึง 90 % หากเจ้าของที่ดินนำทรัพย์สินของตนมาใช้เพื่อสาธารณะ

  • กรณีมีที่ดิน บ้าน และคอนโดมิเนียม ปล่อยเช่า
    หากในกรณีที่เก็บค่าเช่ารายวัน จะต้องเสียภาษีประเภทพาณิชยกรรม แต่หากปล่อยเช่ารายเดือนหรือรายปี จะถือว่าเป็นบ้านเพื่อใช้อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้เสียภาษีในอัตราที่ถูกลงกว่าเดิม และในทางกฎหมายนั้น คนที่จ่ายภาษีคือเจ้าของทรัพย์สิน แต่ในทางปฎิบัติเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็สามารถเจรจาให้ผู้เช่าจ่ายภาษีที่ดินแทนได้เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
  • กรณีที่มีกรรมสิทธิ์ถือครองร่วมกันหลายคน
    หากเป็นกรณีที่ดินหรือห้องคอนโดมิเนียม ซึ่งมีเจ้าของร่วมกันหลายคน สามารถตกลงกันให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้จ่ายภาษีเพียงคนเดียว หรือจะร่วมกันจ่ายก็ได้

ข้อควรรู้ในกรณีลดหย่อนหรือผ่อนปรนภาษี

ทรัพย์สินที่ได้รับมรดก
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ได้รับมรดกเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด คอนโดมิเนียม โดยการใช้ชื่อเป็นบ้านหลังหลักและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ วันที่ 1 มกราคมของปีนั้น และรับโอนเป็นมรดกก่อนวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2562 จะได้ลดภาษีร้อยละ 50 ของภาษีที่จะต้องจ่าย
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รอการพัฒนา
ในกรณีที่รอการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรร ทั้งเพื่อการอยู่อาศัยหรือเพื่อการอุตสาหกรรม, เป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรม หรือเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาเป็นอาคารชุด จะได้รับการลดภาษีร้อยละ 90 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย
หากมีเหตุการณ์ส่งผลให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลาย ด้วยเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้ เช่น อัคคีภัย วาตภัย ภัยแล้ง ฯลฯ จะได้รับการลดหรือยกเว้นภาษี
กรณีต้องจ่ายภาษีที่ดินสูงกว่าภาษีโรงเรือนหรือภาษีบำรุงท้องที่
ก่อนจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของทรัพย์สินจะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่เป็นประจำทุกปี แต่เมื่อเปลี่ยนมาเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน หากในกรณีที่ต้องจ่ายเยอะกว่าจำนวนภาษีเดิมที่จ่ายอยู่ กฎหมายได้ผ่อนปรนให้ทยอยปรับภาษีส่วนที่เพิ่มจากเดิมในช่วง 3 ปีแรก ดังนี้ ในปีที่ 1 จ่ายเท่ากับจำนวนภาษีเดิมที่จ่ายในปีก่อนใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ภาษีส่วนที่เหลือให้จ่าย 25%, ในส่วนของปีที่ 2 เหลือให้จ่ายเพียง 50% และในปีที่ 3 เหลือให้จ่าย 75% ตามลำดับ

ต้องเสียภาษีเมื่อไหร่ ?

ตามข้อกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
ประกาศราคาประเมินที่ดิน โดยจะประกาศก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ของทุกปี
แจ้งการประเมินภาษีให้ผู้เสียภาษีรับทราบ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะได้รับแจ้งการตรวจสอบอัตราภาษี ประเภทของภาษีที่จัดเก็บให้เรียบร้อย และหากพบกรณีว่าข้อมูลที่ได้รับแจ้งไม่ถูกต้อง สามารถใช้สิทธิ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ ภดส.6
การชำระภาษี จะต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี แต่หากต้องจ่ายเป็นจำนวนมากกว่า 3,000 บาท สามารถใช้สิทธิ์การผ่อนชำระได้ โดยไม่เสียดอกเบี้ย แต่ต้องชำระภายในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมนำเทคนิคดี ๆ ที่ทางเราได้นำมาฝาก นำไปปรับใช้กัน เพื่อลดการจ่ายภาษีให้น้อยลง และที่สำคัญคือต้องจ่ายภาษีให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตกันนะคะ