สืบเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศมีความเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลให้ “พฤติกรรม” ของลูกค้าที่มีต่ออสังหาริมทรัพย์ได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพื้นที่ “จังหวัดภูเก็ต” ที่ลูกค้าชาวไทยได้ปรับเปลี่ยนจาก “การเช่า” มาเป็น “การซื้อ” แทน และในขณะเดียวกันชาวต่างชาติเปลี่ยนมาเช่าอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในส่วนของ “นักลงทุนรุ่นใหม่ไฟแรง” ก็แห่กันมาลงทุนธุรกิจเชิงการแพทย์ รีสอร์ท และกีฬาซึ่งมีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

 

เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของลูกค้าต่ออสังหาริมทรัพย์ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต ที่มีจำนวนซัพพลายในตลาดคงเหลือปริมาณมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการ “ซื้อ” มากกว่า “เช่า” นั่นเอง ทั้งนี้ยังเป็นอานิสงส์ทำให้ชาวต่างชาติหันมาเช่าที่อยู่อาศัยในระยะยาวกันมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันกลุ่มดีเวลลอปเปอร์ต่าง ๆ ก็ปรับโมเดลการลงทุนให้สามารถรองรับกับดีมานด์ตลาดของที่อยู่อาศัยประเภทอพาร์ทเม้นท์ มากกว่าโรงแรมหรือคอนโดมิเนียม ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกลุ่มนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ที่หันมาลงทุนธุรกิจในเชิงการแพทย์ รีสอร์ท และการกีฬากันมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดที่จะฟื้นกลับมาในอนาคต

ป้าย Phuket บริเวณหาดป่าตอง

อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังโควิดโมเดลการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในจังหวัดภูเก็ตได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวไทยจากเดิมที่เคยเป็นผู้เช่าก็ได้กลายเป็นผู้ซื้อแทน เพราะซัพพลายมีราคาที่ลดลงทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงส่งผลให้ผู้คนในท้องถิ่นทั้งกลุ่มคนทำงาน นักศึกษา หรือประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่อาศัยภายในจังหวัดภูเก็ตเริ่มหันมาซื้อที่อยู่อาศัยแทนการเช่ากันมากขึ้น และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเดิมที่มีการเช่าอยู่ในระยะสั้น ๆ อย่างรายวันหรือรายสัปดาห์ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเช่าระยะยาวในลักษณะ 6 เดือนขึ้นไปหรือหนึ่งปีนั่นเอง

ในขณะเดียวกันดีเวลลอปเปอร์จำนวนมากที่กำลังพัฒนาโรงแรมก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า เพื่อรองรับการเช่าในระยะยาวโดยมีเงื่อนไขให้เช่าตลอดระยะเวลา 30 ปี และสำหรับผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมที่ไม่สามารถปล่อยเช่ารายวันได้ก็ต้องปรับตัวมาเป็นอาคารให้เช่าในระยะยาว ให้แก่นักลงทุนรายย่อยมาเช่าต่อเพื่อการปล่อยเช่ารายวันต่อไป ซึ่งเป็นทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลังจากได้รับผลกระทบโควิด-19

“เชื่อว่าภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในจังหวัดภูเก็ตทั้งในกลุ่มลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นจะกลับมาดีขึ้นได้นั้นต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อเข้ามากระตุ้นกำลังซื้อของนักลงทุน เพื่อให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน”

และนอกเหนือจากการปรับตัวของผู้ประกอบการต่าง ๆ แล้ว ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้นำเสนอรัฐบาล ให้แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ว่าด้วยเรื่องของการเลื่อนเวลาใบขออนุญาตการก่อสร้างออกไปซึ่งมีผลบังคับใช้ทั้งประเทศในอีก 2 ปี เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2567 เพราะจะมีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้ และขอให้มีการปรับเปลี่ยนประโยชน์ของการใช้อาคารได้ เช่น การปรับเปลี่ยนโรงแรมมาใช้เป็นสำนักงานแทน เพราะหลายจังหวัดได้มีการจดทะเบียนโรงแรมไม่ถึง 40% เนื่องจากติดปัญหาเรื่องผังเมืองจึงเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะผังเมืองหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ควรเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้ทุกจังหวัดมีการอยู่อาศัยที่กระจายตัวในทุกพื้นที่และไม่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเช่นเดียวกับในกรุงเทพมหานคร

พระใหญ่ หรือ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี

ธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อส่งเสริมระบบเศษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินภายในจังหวัด และในถึงแม้จะมีทิศทางแนวโน้มเป็นภาพบวก แต่ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ว่า “ดี” ได้เพราะนานาชาติเองยังไม่สนใจที่จะกลับเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในขณะนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดประเทศอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปแล้วก็ตาม

โดยก่อนหน้านี้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนชาวจีนและชาวรัสเซียที่นิยมมาลงทุนทั้งเพื่อทำผลกำไรและเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งในปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศที่กล่าวมารัฐบาลต่างยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้นธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ภายในจังหวัดภูเก็ตจึงค่อนข้างซบเซาและไม่สามารถวัดผลได้ว่าจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า จึงได้แต่รอเวลา

อย่างไรก็ดีได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในจังหวัดภูเก็ตด้วยเช่นกัน โดยได้มีกลุ่มนักลงทุนชาวไทยแห่กันเข้ามาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก และมีการเริ่มจับจองพื้นที่ในจังหวัดมากขึ้น ด้วยรูปแบบการลงทุนธุรกิจแนวใหม่ของการบริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รีสอร์ท และการกีฬาต่าง ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจการท่องเที่ยวรูปแบบเดิม และนักลงทุนเหล่านี้ต่างมีความเชื่อมั่นว่าจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการเติบโตในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียนคิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากการขายที่ดินและการลงทุนโครงการธุรกิจรูปแบบใหม่นี่เอง และถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในเชิงของการลงทุนพัฒนาที่ดินเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจเชิงรุกของ “นักธุรกิจรุ่นใหม่” ที่เข้ามาลงทุนภายในจังหวัดนั่นเอง

บรรยากาศยามเย็น บริเวณถนนถลาง

จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมาหยุดชะงักแล้วต้องปรับตัวให้สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการรอเวลาและรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาดีดังเช่นเดิมได้ ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและมีกำลังการซื้อกลับมา โดยคาดการณฺ์ว่าในไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการระบาดของโควิดระลอกใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตามทางเราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับบทความที่น่าสนใจครั้งต่อไปสามารถติดตามได้ที่ Fazwaz.co.th.