เมื่อฤดูฝนมาเยือนกับปัญหายอดฮิตประจำฤดูกาล
เมื่อฤดูฝนมาเยือนกับปัญหายอดฮิตประจำฤดูกาล

รู้ไว้ก่อนตัดสินใจ กู้บ้านพ่วงทำประกันคุ้มครองสินเชื่อ MRTA

หลาย ๆ คนที่กู้สินเชื่อซื้อบ้านต่างก็ต้องเจอกับ คำถามเชิญชวนจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารให้ทำประกันสินเชื่อ MRTA พร้อมกับการขอสินเชื่อบ้านเพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการไม่ทำประกัน และทุกคนก็คงจะเกิดความสงสัยใช่หรือไม่ค่ะว่า ประกันคุ้มครองสินเชื่อ MRTA คืออะไร ดีอย่างไร จำเป็นที่จะต้องทำหรือไม่ ทำแล้วจะเกิดความคุ้มค่าจริง ๆ หรือไม่ วันนี้ทางเวปไซต์ BaanThai ก็ได้นำคำตอบเหล่านั้นและได้เขียนอยู่ในบทความฉบับนี้กันนะ

ทำความรู้จักประกันคุ้มครองสินเชื่อ MRTA

MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance) หรือประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ คือ ประกันชีวิตประเภทที่มีจุดประสงค์อยู่ที่การประกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ โดยให้คุ้มครองสินเชื่อของผู้กู้ซึ่งในกรณีนี้คือ สินเชื่อบ้าน เมื่อทำแล้วไม่ว่าจะเกิดเหตุต่อชีวิตผู้กู้ก็ไม่มีผลกระทบต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน เพราะบริษัทรับประกันจะทำหน้าที่ผ่อนชำระหนี้แทนผู้กู้เอง โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาคุ้มครองและวงเงินประกันที่ผู้กู้เลือกทำประกันเอาไว้นะคะ

ประเภทและรูปแบบของประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน MRTA

ในการทำประกัน MRTA นั้นผู้ทำประกันสามารถเลือกความคุ้มครองวงเงินและระยะเวลาคุ้มครองได้ เช่น คุ้มครองเต็มวงเงิน และตลอดระยะเวลากู้ หากวงเงินกู้ 10 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 30 ปี ก็จะได้รับความคุ้มครองเต็ม 10 ล้านบาท และเต็มระยะเวลา 30 ปี แต่หากเลือกความคุ้มครองแค่ 70% ของวงเงินกู้และ 70% ของระยะเวลากู้ ก็จะได้รับความคุ้มครองวงเงิน 7 ล้านบาท และคุ้มครองช่วงระยะเวลา 21 ปีแรก เป็นต้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับรูปแบบของการประกัน ตัวอย่างเช่น การประกันแบบที่จำนวนเงินเอาประกันภัยคงที่ ซึ่งไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านไปจำนวนเงินเอาประกันก็ไม่ลดลงตามยอดหนี้ หรือการเอาประกันแบบที่จำนวนเงินเอาประกันภัยลดลง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปความคุ้มครองลดลงตามภาระหนี้ที่ลดลง เป็นต้น

ความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน MRTA

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองความสามารถในการชำระหนี้สินเชื่อบ้านแก่ผู้เอาประกัน โดยจะชำระหนี้แทนผู้เอาประกันเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ทั้งในกรณีที่เป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมไปถึงกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ได้เสียชีวิต แต่ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ซึ่งทำให้ไม่สามารถหารายได้มาผ่อนชำระสินเชื่อได้

ความคุ้มค่าในการทำประกันสินเชื่อบ้าน MRTA

ความคุ้มค่าที่นอกเหนือจากความคุ้มครองที่ผู้กู้จะได้รับจากการเลือกทำประกันก็คือการได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติสำหรับลูกค้าที่ไม่ทำประกัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านี้มีส่วนจูงใจให้ผู้กู้ตัดสินใจทำประกันได้ง่ายขึ้น และในมุมมองของธนาคารแล้วเมื่อมีการทำประกันสินเชื่อบ้าน MRTA ก็ทำให้การให้สินเชื่อแก่ผู้กู้มีความเสี่ยงลดน้อยลงเช่นกัน และเมื่อทำประกันแล้วก็จะนำเบี้ยประกันบวกเพิ่มเข้าไปในวงเงินกู้ด้วย จึงทำให้การเลือกทำประกัน MRTA โดยมุ่งหวังที่จะลดดอกเบี้ยจ่ายจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่า แต่ทั้งนี้ผู้กู้อาจจะต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจขึ้นในอนาคตประกอบการตัดสินใจด้วยจะดีกว่าค่ะ

ความจำเป็นในการทำประกันสินเชื่อบ้าน MRTA

ผู้ขอสินเชื่อต่างก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธว่าจะไม่ทำประกันได้โดยอิสระ ภายใต้การควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวผู้กู้ก็ไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ลิจารณาความเสี่ยงนั้น ๆ ตามความเป็นจริง ถ้าหากในอนาคตผู้กู้เสียชีวิต หรือทุพพลภาพไม่มีรายได้ขึ้นมา แต่บ้านหลังนี้ก็ยังมีความจำเป็นที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องอยู่อาศัย จำเป็นที่ต้องผ่อนบ้านต่อไปจนครบสัญญา นั่นก็จะเป็นเหตุผลที่ผู้กู้ควรตัดสินทำประกัน MRTA เพื่อช่วยลดปัญหาและความเสี่ยงเหล่านั้นนะค่ะ

ประกันสินเชื่อ MRTA นั้นผู้รับผลประโยชน์คือธนาคารโดยตรงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเงินประกันจะถูกนำมาชำระหนี้บ้านก่อน ส่วนประกันอุบัติเหตุ (PA: Personal Accident) นั้นยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองที่ทดแทนประกัน MRTA ได้เนื่องจากคุ้มครองการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพเนื่องจากอุบัติเหตุเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

การยกเลิกประกันสินเชื่อ MRTA และการรีไฟแนนซ์

ประกัน MRTA นั้นสามารถเวนคืนประกันได้เช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ กรณีที่ปิดหนี้บ้านก่อนกำหนดก็สามารถติดต่อกับบริษัทประกันเพื่อขอเวนคืนประกันได้เช่นกันนะคะ และในส่วนกรณีที่เป็นการรีไฟแนนซ์นั้นสามารถเลือกที่จะเวนคืนประกัน หรือจะยังคงประกันเดิมไว้ก็ได้ความคุ้มครองยังคงมีอยู่โดยสามารถเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์จากธนาคารแห่งแรกเป็นธนาคารใหม่ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นชื่อบุคคลอื่นก็ได้ และยังสามารถทำประกัน MRTA ใหม่กับธนาคารแห่งใหม่อีกด้วยก็ได้ แต่จะเป็นการเกินความจำเป็นเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งถ้าหากมีการวางแผนที่จะรีไฟแนนซ์ตั้งแต่แรกแล้วในการทำประกันก็ควรเลือกทำประกันที่คุ้มครองเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำประกันเต็มระยะเวลากู้ ก็จะช่วยให้ลูกค้าสามารถลดเบี้ยประกันได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจัยสำคัญสำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ทำประกันสินเชื่อ MRTA โดยมีระยะเวลาเอาประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้นะค่ะ ซึ่งการลดหย่อนสามารถลดหย่อนได้ในปีภาษีแรกที่เริ่มทำประกันเท่านั้น เนื่องจากประกัน MRTA มีการชำระเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียว ณ ปีที่ทำประกัน

ถึงตอนนี้แอดมินก็เชื่อนะคะว่าทุกคนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อ MRTA นั้นคืออะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร ทำแล้วจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ ทุก ๆ คำถามนั้นจะมีคำตอบเสมอนะคะ ก็ฝากให้ทุกคนพิจารณาไตร่ตรองให้ดีในทุก ๆ การตัดสินใจที่จะซื้อบ้านนะคะ เพราะบ้านนั้นส่วนใหญ่แล้วซื้อได้แค่คนละ ครั้งเดียวเท่านั้น เราต้องเลือกให้ดี คิดถึงองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เช่น ทำเลที่ตั้ง อยู่ใกล้โรงเรียน โรงพยาบาลหรือคลีนิกต่าง ๆ หรือไม่ การเดินทางสะดวกมั้ย เป็นต้นนะคะ