Design บ้านสวยตรงใจตามสไตล์ผู้อยู่

เมื่อเราต้องสร้างบ้านของตัวเองสักหลัง เรื่องการหาแบบบ้านสวย ๆ หรือออกแบบบ้านให้สวยงาม และสามารถใช้งานได้จริง ดังใจหวังนั้นคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย การออกแบบบ้านที่ดีและมีประสิทธิภาพจะต้องทำอย่างไร ต้องพิจารณาอะไรบ้าง ใครอยากรู้จะพาไปดูการออกแบบบ้านเองให้เป๊ะปัง แบบไม่ต้องง้อมืออาชีพกันเลย สำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการออกแบบบ้านและแปลนบ้านถือเป็นเรื่องยากมาก เพราะนอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามและฟังก์ชันการใช้งานจริงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกด้วย ดังนั้นสำหรับคนที่กำลังจะออกแบบบ้านด้วยตัวเองและกำลังมองหาแรงบันดาลใจอยู่ วันนี้ FazWaz ก็ได้รวบรวมเคล็ดลับการออกแบบบ้านอย่างมีประสิทธิภาพมาฝากกันนะคะ รับรองว่าอาจจะช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้ แถมต้องได้บ้านที่สวยงามตรงตามใจอย่างแน่นอน

1. เลือกประเภทที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับสมาชิก

ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะต้องการบ้านขนาดใหญ่ และก็ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะเหมาะกับบ้านขนาดเล็ก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนจะออกแบบบ้าน คือ การเลือกประเภทที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโด โดยลองพิจารณาดูว่า ควรจะมีพื้นที่เท่าไรถึงจะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของทุกคน เพื่อนำไปคำนวนต่อว่าภายในที่พักอาศัยของเราควรมีห้องนอนเท่าไร ห้องน้ำเท่าไร และเพิ่มเติมส่วนไหนบ้าง

2. ให้ความสำคัญกับเลเอาต์ Layout เป็นอันดับแรก

หลักจากเลือกประเภทที่อยู่อาศัยได้แล้ว ควรให้ความสำคัญกับแปลนบ้านก่อนการตกแต่ง เพราะถึงแม้ว่า่บ้านจะสวยงาม แต่ถ้าหากไม่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นใครที่กำลังจะออกแบบบ้านแล้วละก็ ควรออกแบบแปลนบ้านให้เสร็จก่อน โดยพิจารณาว่าจะวางตำแหน่งแต่ละห้องอย่างไร ระหว่างพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ส่วนตัว อยู่ติดกันได้หรือแยกคนละโซนไปเลยดีกว่า เพื่อป้องกันเสียงรบกวน หรือห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว ห้องครัว กั้นผนังดีไหม หรือออกแบบแบบ Open Plan ดีกว่า

ให้ความสำคัญกับเลเอาต์ Layout เป็นอันดับแรก

3. ตกแต่งให้สอดคล้องกับพื้นที่

หลังจากเลือกแปลนบ้านที่ต้องการได้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการตกแต่ง ซึ่งควรเลือกให้สอดคล้องไปกับพื้นที่ ขนาด และการจัดวางแปลนบ้าน เช่น หากภายในบ้านค่อนข้างเล็ก ควรเลือกการตกแต่งสไตล์โมเดิร์น เพราะทั้งโทนสีและการออกแบบในสไตล์นี้จะช่วยให้ภายในบ้านดูกว้างขวาง สว่าง บรรรยากาศปลอดโปร่ง มากกว่าสไตล์เทรดิชันนอลหรือบ้านแบบดั้งเดิม ที่มักจะใช้ผนังกั้นห้องแบ่งพื้นที่ ซึ่งจะทำให้บ้านที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วยิ่งดูแคบลง

4. คำนึงถึงข้อดี-ข้อเสียของแต่ละจุด

เมื่อได้แบบบ้านที่ถูกใจแล้ว ก็อย่าเพิ่งลงมือทันที ลองพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียของแต่ละจุดสักรอบ เช่น หากเป็นคนชอบหน้าต่างบานใหญ่ ๆ เพราะอยากให้บ้านสว่างและมองเห็นวิวด้านนอกแล้ว อย่าลืมดูด้วยว่าตรงกับทิศทางของแสงแดดหรือไม่ แดดส่องถึงช่วงไหน ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้บ้านร้อน อาจจะต้องติดกันสาดหรือเปลี่ยนผ้าม่านแบบกันความร้อน

5. ตั้งงบประมาณให้ชัดเจน

อีกหนึ่งปัญหาการตกแต่งบ้านที่หลายคนมักจะเจอก็คือ ซื้อของเข้าบ้านเพลินจนเกินงบที่ตั้งไว้ เพราะอยากได้ไปหมดทุกอย่าง ยิ่งหาก็ยิ่งเจอของที่ถูกใจ ฉะนั้นควรตั้งงบประมาณที่จะใช้ให้ชัดเจนและพยายามควบคุมให้อยู่ในวงเงินที่กำหนดเอาไว้ ป้องกันไม่ให้งบบานปลายหรือเกินได้นิดหน่อยแต่ไม่มากจนเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมทำบัญชีเอาไว้ด้วย จะได้รู้ว่าใช้จ่ายกับอะไรไปบ้าง และสามารถลดตรงไหนเพื่อช่วยประหยัดได้อีก เราจะได้มีเงินเก็บไว้สำหรับไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย

6. ถามความเห็นจากผู้รู้

ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาที่จะตามมาภายหลัง ควรปรึกษาหรือถามความเห็นจากคนที่อยู่แวดวงการออกแบบ อาจจะเป็นคนรู้จักที่มีประสบการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิกหรืออินทีเรีย interior เพิ่มเติมด้วย เพราะพวกเขาเหล่านี้มีความรู้ในเชิงลึก สามารถให้คำปรึกษาได้รอบด้าน รวมถึงการปรับและแก้ไขจุดบกพร่องต่าง ๆ เพื่อให้บ้านเหมาะสมกับเราและน่าอยู่ยิ่งขึ้น

7. เชื่อสัญชาตญาณตัวเองบ้าง

เพราะการออกแบบบ้านไม่มีผิด ไม่มีถูก ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือความเหมาะสมและความต้องการ นอกจากวิธีการออกแบบที่กล่าวมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำตามเป๊ะ ๆ ทุกข้อ บางอย่างอาจจะดูนอกกรอบไปบ้าง แต่ถ้าลองพิจารณาดูแล้วว่าเป็นสิ่งที่เราชอบและเข้ากับลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ให้เชื่อสัญชาตญาณและทำตามความต้องการของตัวเองบ้างหรือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้ารู้สึกว่าใช่ ก็คือใช่ ไม่จำเป็นต้องอิงตามใคร ตามตำราปลูกเรือนตามใจผู้อยู่นั่นเองค่ะ

การออกแบบบ้านมีหลาย ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนอกจากเรื่องการตกแต่งที่สวยงามตามใจชอบแล้ว ก็อย่าลืมคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในบ้าน ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน รวมถึงความสะดวกสบายต่าง ๆ ด้วยนะคะ เพื่อให้บ้านเป็นบ้านที่น่าอยู่อย่างแท้จริง และจะได้ไม่ต้องตามแก้ไขทีหลัง