เมืองอัจฉริยะ พัฒนาสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยและทั่วโลก

ยุคปัจจุบันเราต่างก็ต้องเคยได้ยินใคร ๆ ก็พูดถึงแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) กันอย่างแน่นอนเพราะกำลังฮิตและเข้ามามีบทบาทในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบรับความต้องการของผู้คนมากขึ้น แต่แนวคิดนี้ก็มีทั้งโอกาสสำเร็จและล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คงไม่สามารถที่จะพัฒนาเพื่อการอยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด สำหรับในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องมองถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข หรือที่เรียกว่า “เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายของประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกต่างก็กำลังผลักดันและเร่งสร้างเมืองอัจฉริยะนี้เหมือนกัน

รัฐบาลและภาคเอกชนมุ่งสร้างเมืองอัจฉริยะ ความท้าทายทั่วโลก

ภาครัฐต่างมุ่งเน้นการหาเทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างเมืองอัจฉริยะ ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็หันมาสนใจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกันมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับการสร้างสรรค์อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานที่กิน และสถานที่ท่องเที่ยวของผู้คนได้

ปัจจุบันหลาย ๆ เมืองทั่วโลกมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิเช่น อินเตอร์เน็ตสำหรับทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อเข้ามาใช้ในการจัดการปัญหาที่เกิดจากการเติบโตของเมือง เช่น การจราจร การกำจัดของเสีย และการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะในเรื่องความเป็นอยู่และการทำงาน รวมไปจนถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากอาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก

ประเทศไทยผลักดันสมาร์ทซิตี้ ขยาย 100 เมืองในปี 2565

สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการตั้งเป้าจะมีเมืองอัจฉริยะ 60 เมืองใน 30 จังหวัด ภายใน ปี 2563-2564 และจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นสู่ 100 เมืองทั่วประเทศ ภายในปี 2565 และได้มีการนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ขอนแก่น กรุงเทพฯ และจังหวัดพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งในการพัฒนาเมืองตามหลักของเมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 7 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

  1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) จะเป็นเมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ
  2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)เป็นเมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบจราจรและการขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
  4. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เป็นเมืองที่สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เมืองที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เปิดกว้างสำหรับการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น
  6. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เป็นเมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยะสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
  7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการของภาครัฐ มุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม

ขอความเห็นใจภาครัฐหนุนการลงทุนและทรัพยากรพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ได้มีการสรุปผลจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ประสบความล่าช้าในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ก็จะพบว่าระบบราชการเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ ทั้งนี้ จากการที่เมืองหลายเมืองเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน การจะดำเนินนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จได้ ภาครัฐจะต้องเปิดรับการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ยินดีลงทุนในเรื่องของเวลาและทรัพยากร พร้อมเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก นอกจากนี้ ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ควรเริ่มด้วยการลดการมุ่งเน้นเฉพาะการแสวงหาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการคำนึงถึงวิธีที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นช่วยให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้อย่างไร โดยเชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้คนกับสาธารณูปโภคเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมของสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์แบบอย่างเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะต้นเเบบ นับเป็นแผนการพัฒนาประเทศระยะยาว จึงจำเป็นที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวตามเทรนด์ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการโครงการ เพื่อสร้างมูลค่าและผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด