เส้นทางรถไฟสายสีนํ้าเงินเปลี่ยนเมือง พลิกโฉมเยาวราช
เส้นทางรถไฟสายสีนํ้าเงินเปลี่ยนเมือง พลิกโฉมเยาวราช

ลุ้นตลาดวัสดุก่อสร้างปี 62 ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว

เราทุกคนต่างก็ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยถดถอยมาอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องถึงภาคการผลิตในธุรกิจซีเมนต์ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง แม้ว่ารัฐจะมีโครงการออกมาแต่ยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นตลาดด้านอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ โครงการภาคอสังหาริมทรัพย์ ในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงปีนี้ เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ส่วนด้านของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็ได้มีการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อย่างบ้าน และคอนโดมากขึ้น ขณะที่การส่งออกก็เจอผลกระทบทั้งจากเศรษฐกิจของคู่ค้าที่เติบโตลดลง ค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่าต่อเนื่องประมาณร้อยละ 20 และอุปสรรคเรื่องมาตรการภาษีในบางประเทศที่นำมาใช้กับสินค้าของไทย

ลุ้นตลาดวัสดุก่อสร้างปี 62 ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว
ลุ้นตลาดวัสดุก่อสร้างปี 62 ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว

ในขณะที่ผู้นำในธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างของไทย อย่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ต้องปรับกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าของสินค้า และการเพิ่มนวัตกรรมโปรดักส์ออกสู่ตลาดให้มากขึ้นและหลากหลายนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC สะท้อนสภาพตลาดในปีนี้ว่า ธุรกิจซีเมนต์ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เชื่อว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเติบโตขึ้นเป็น 3% และคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ทั้งปีจะมีการเติบโตอยู่ในระดับ 3-4% เป็นผลจากงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ออกประมูลไปแล้วยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดซีเมนต์สำหรับที่อยู่อาศัย คาดว่าจะยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสัก 1-2 ปีจึงจะเห็นการขยายตัว ซึ่งทำให้มีผลต่อตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ยังอยู่ระดับทรงตัว ท่ามกลางตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนตลาดซีเมนต์ในอาเซียน ยังสามารถที่จะเห็นการเติบโตทั้งในกัมพูชา พม่า และเวียดนาม แต่ในตลาดอินโดนีเซีย ชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ด้านนายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ COTTO, SOSUCO, CAMPANA ได้เสริมว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 มีรายได้จากการขายลดลง 5% จากไตรมาส 2/61 และลดลง 7% จากไตรมาส 1/62 โดยไตรมาส 2 ตลาดในประเทศเติบโตใกล้เคียงกับเป้าที่วางไว้ แต่ยอดขายหายจากยอดส่งออกเดิม ซึ่งพอจะวิเคราะห์ได้ว่า “ครึ่งปีแรกของปี 2562 ผลกระทบมาตรการ LTV ทำให้มีการตัดสินใจซื้อบ้านชะลอตัวลง ขณะที่ไตรมาส 3/62 ยังไม่มีปัจจัยบวก โดยต้องรอไตรมาส 4/62 ที่คาดว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ดังนั้น เทรนด์ครึ่งปีหลังตลาดยังทรงตัว ในขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะส่งผลบวกในปีถัดไปหรือปี 2563 เป็นช่วงรอยต่อไตรมาส 4/62 ไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า”

ลุ้นตลาดวัสดุก่อสร้างปี 62 ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว
ลุ้นตลาดวัสดุก่อสร้างปี 62 ผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้น กลยุทธ์ที่สำคัญก็คือ เราจะต้องเน้นการรักษาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้อยู่ในใจผู้บริโภคอย่างยั่งยืน โดยทุกโรงงานที่เป็นฐานการผลิตของเอสซีจี เซรามิกส์ จะมีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพกระเบื้องที่ได้รับรองมาตรฐานอยู่แล้ว ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจค้าส่งวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน หลายฝ่ายอาจจะประเมินว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และปัจจัยเรื่องภัยแล้งที่ทำให้ราคาพืชผลตกต่ำลง ชาวไร่เกษตรกรจะมีกำลังซื้อน้อยลงจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ นายอดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME ได้กล่าวว่า การชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่กระทบต่อยอดขายมากนัก เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มซ่อมแซมและตกแต่งบ้านที่ยังคงเห็นการเติบโตที่ดีอยู่ในปัจจุบัน

ทางด้านของนายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT กล่าวสวนกระแสทางการตลาด ว่า ในไตรมาส 3 นี้ ที่เป็นช่วงโลว์ซีซัน หรือช่วงนอกฤดูกาลขายของสินค้าวัสดุก่อสร้าง บริษัทจะเร่งเดินเครื่องจักรในทุกไลน์การผลิต เพื่อผลิตสินค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มระบบหลังคา กลุ่มไม้สังเคราะห์ และกลุ่มอิฐมวลเบา โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มระดับสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับการขายทุกผลิตภัณฑ์จาก 20 วันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 30 วัน และบริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางด้านใดก็ตาม แต่บริษัท ต่าง ๆ ก็ต้องปรับแผนเพื่อรองรับกับทุกปัญหาและทุกสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดของทุก ๆ ฝ่าย