วิกฤติคอนโด ผ่อนไม่ไหว หลุดโอนเพียบ!
วิกฤติคอนโด ผ่อนไม่ไหว หลุดโอนเพียบ!

วิกฤติคอนโด ผ่อนไม่ไหว หลุดโอนเพียบ!

ยุคนี้อะไรก็แพงอะไรก็ยากไปหมดยิ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วยแล้ว ต่างชะลอตัวกันเป็นแถว ๆ สู้ไม่ไหวกับพิษเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า Developer หันมาเร่งระบายสต๊อกคอนโด บ้าน  โดยใช้ชื่อแคมเปญ “โปรหลุดดาวน์” เป็นการทำโปรโมชั่นเชิงจิตวิทยา ที่จะสามารถทำให้ลูกค้าสนใจซื้อไว้ลงทุน ปล่อยเช่าเก็งกำไร

ได้มีรายงานจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า ตลาดในภาพรวมปีนี้ค่อนข้างชะลอตัว ผลข้างเคียงจากมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใช้เกณฑ์ LTV และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคทุกกลุ่ม แต่ที่น่าสนใจก็คือตลาดคอนโดมิเนียม นอกจากระดับราคา กลุ่มกลาง-ล่างที่มีปัญหายอดขายลดแล้ว ณ ตอนนี้ตลาด Luxury หรือกลุ่มบน เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวอีกด้วย ส่วนใหญ่ลูกค้าในกลุ่มนี้จะซื้อไว้ลงทุนเพื่อปล่อยเช่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีในการที่จะซื้อลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้น บางรายไม่รับโอนห้องชุด ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำห้อง ชุดเหล่านี้กลับมาขายใหม่ จนเกิดแคมเปญคอนโดหลุดโอนขึ้นมา

สำหรับ Developerที่จัดแคมเปญแรง ๆ แบบนี้ก็จะมี บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้นำตลาดบ้านหรูของวงการ ได้นำคอนโดหลุดโอนแบรนด์ระดับบน เช่น เดอะ แบ็งคอก, เดอะ รูม และเดอะคีย์ รวม 5 โครงการ 5 ทำเล รวมห้องที่หลุดโอนทั้งหมด 200 ยูนิต จากจำนวนห้องทั้งหมดประมาณกว่า 2,000 ยูนิต สำหรับห้องหลุดโอนเหล่านี้ก็จะมีราคาลดมากกว่า 20% เพื่อหวังให้เกิดแรงจูงใจลูกค้าที่มีเงิน Developer อีกรายก็คือ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ นำโครงการแอชตัน สีลม Ashton Silom ได้มีการจัดโปรโมชั่นอยู่ฟรี 2 ปี รับส่วนลดสูงสุด 2 ล้านบาท เป็นต้น

ธนาคารพาณิชย์ได้เผยว่า การระบายสต๊อกโครงการที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องการแบกรับภาระต้นทุน จึงได้ทำการเร่งระบายสินค้า ออกมาผ่านการจัดแคมเปญที่เรียกว่า “โปรหลุดดาวน์” ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียมเป็นหลัก สัญญาณยอดหลุดจองเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเชิงจิตวิทยา ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่าที่อาจจะทำได้ยากขึ้น โดยมาจากปัจจัย 2-3 ประเด็น ก็คือ

1.ลูกค้าบางคนที่ตัดสินใจซื้อแล้ว แต่การซื้อนั้นส่งผลกระทบต่อลูกค้า เช่น ภาระเงินที่จะนำมาผ่อนชำระทั้งการซื้อเงินสด หรือการใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ซึ่่งภายหลังมีหลักเกณฑ์ LTV เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้การขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น

2.ลูกค้าไม่โอนบางโครงการในตลาดคอนโดมิเนียม ภายหลังจากตัดสินใจซื้อช่วง Presale ก่อนโครงการยังสร้างไม่เสร็จ แต่ปัจจุบัน โครงการสร้างแล้วเสร็จพบว่าสภาพแวดล้อมสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อ

3.มาตรการ LTV ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อที่ไม่ใช่บ้านหลังแรก เป็นหลังที่ 2 – 3 ส่งผลให้มีเงินไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อยอดการหลุดจองดาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาทำโปรหลุดดาวน์ มองว่า เป็นแค่ลูกเล่น (Gimmick) ในการทำการตลาดเพื่อดึงดูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถจะเสนอโปรโมชันให้กับลูกค้าได้ในราคาที่ถูกลง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการหลุดดาวน์จริงหรือไม่ และหากดูโปรโมชัน เช่น เดิมราคาขายตารางเมตรละ 1 แสนบาท มาเหลือ 8 หมื่นบาท อาจจะหลุดดาวน์จริง แต่หากยังขายในราคาเดิมแต่อาจจะเสนอของแถมอย่างอื่นให้ อาจจะไม่ใช่หลุดดาวน์ แต่เป็นการกระตุ้นยอดขายเท่านั้น

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิต ภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวเสริมว่า มาตรการ LTV อาจจะมีผลกระทบบ้างในช่วงระยะแรก แต่ในท้ายที่สุดจะช่วยคัดกรองผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง และลูกค้าได้ราคาที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมทั้งระบบในระยะยาว

ดังนั้น ไม่ว่าโปรโมชั่นที่ Developer ต่างออกมาแข่งขันกันนั้นจะเป็นโปรหลุดดาวน์จริงหรือไม่จริงนั้นเรา ๆ ทั้งหลายที่เป็นผู้บริโภคก็ต้องใช้สติศึกษาหาข้อมูล ทำการเปรียบเทียบรายละเอียดและส่วนลดกับหลาย ๆ โครงการเพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโปรโมชั่นเหล่านี้นะคะ