หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมีแผนจะสร้างบ้านในฝัน และกำลังตัดสินใจที่จะมองหาผู้รับเหมาดี ๆ เพื่อมาก่อสร้างบ้านจากเงินน้ำพักน้ำแรงของคุณ ซึ่งความจริงแล้วผู้รับเหมาที่ดีก็มี ผู้รับเหมาไม่ดีก็เยอะด้วยเช่นกัน ถ้าหากคุณเป็นคนที่เคยสัมผัสกับเรื่องแบบนี้ก็คงจะรู้ดีและเจ็บกันมาก็ไม่น้อย ฉะนั้นก่อนที่คุณจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป เว็บไซต์ Fazwaz.co.th จึงได้รวบรวม 10 กลโกงของผู้รับเหมาที่หลาย ๆ คนเคยประสบมา พร้อมวิธีป้องกันและวิธีแก้ปัญหาสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ มาดูกันเลยค่ะ

10 กลโกงของผู้รับเหมา

นับเป็นปัญหาโลกแตกระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติม การก่อสร้าง และการออกแบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างยาวนานและเป็นปัญหาหลักของใครหลาย ๆ คน ซึ่งแน่นอนว่ากว่าเราจะสร้างบ้านหลังหนึ่ง นอกจากตัวบ้านที่ต้องใส่ใจแล้ว เรายังต้องคัดสรรผู้รับเหมาที่ดีและไว้ใจได้ ซึ่งจะมีวิธีรับมือและป้องกันอย่างไรไม่ให้ถูกผู้รับเหมาโกงได้ในอนาคต วันนี้ฟาซวาซจึงได้รวบรวมกลโกงของผู้รับเหมาที่พบเจอได้บ่อยครั้ง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

1. ผู้รับเหมาทิ้งงาน
ปัญหาแรกที่ผู้คนส่วนใหญ่มักเจอกับบรรดาผู้รับเหมาที่ไม่ดีคือผู้รับเหมาที่ทิ้งงานแล้วเชิดเงินหนีไป อีกทั้งยังทำงานล่าช้า ไม่เสร็จตามแผนที่วางเอาไว้

2. วัสดุก่อสร้างไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้
ปัญหาต่อมาเป็นกรณีที่ผู้รับเหมาโกงวัสดุ โดยนำเอาวัสดุเกรดต่ำหรือที่มีราคาถูกกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ มาใช้ในการก่อสร้างต่อเติมและไม่ตรงตามแบบที่ผู้ว่าจ้างต้องการ

3. สัญญาคลุมเครือ
สัญญาจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมา โดยผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะร่างสัญญามาและจะอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ หรือหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในชั้นศาลเมื่อเกิดการฟ้องร้องขึ้น ดังนั้นการทำสัญญาผู้ว่าจ้างต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะผู้ว่าจ้างอาจจะเสียเปรียบในกรณีที่ต่อสู้ในชั้นศาลได้

4. เบิกเงินก่อนล่วงหน้า
ปัญหาต่อมาเป็นปัญหาการวางเบิกเงินล่วงหน้าซึ่งเป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นได้เป็นประจำ โดยผู้รับเหมาจะอ้างว่าเงินไม่พอจะซื้ออุปกรณ์หรือวัสดุ ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับจ่ายค่าคนงาน ทำให้นายจ้างยอมให้ผู้รับเหมาเบิกเงินล่วงหน้าไปก่อน และในกรณีนี้เมื่อผู้รับเหมาได้เงินครบก็มักจะทิ้งงานทันที

5. ผู้รับเหมาเปลี่ยนทีมช่างชุดเดิม
โดยในช่วงแรกของการก่อสร้างผู้รับเหมาจะนำช่างที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงานก่อน เพื่อทำให้ผู้ว่าจ้างเชื่อใจในฝีมือการทำงานว่าน่าจะทำออกมาได้ดี แต่หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเอาช่างมือใหม่เข้ามาทำ หรือจากเดิมที่มีช่างฝีมือจริงอยู่ 5 คน ในช่วงหลังอาจจะเหลือไว้เพียง 2 คน ซึ่งจะทำให้งานเสร็จล่าช้า ไม่เสร็จตามกำหนด และงานจะไม่ประณีตเท่าที่ควร

6. ผู้รับเหมาไม่เข้าหน้างาน
อีกปัญหาคือในกรณีผู้รับเหมาไม่เข้าไปดูงานปล่อยให้ลูกน้องทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง ทำให้งานที่ออกมาอาจจะมีความคลาดเคลื่อน และคนงานอาจโกงได้

7. ผู้รับเหมาขาดความรับผิดชอบ
ผู้รับเหมาที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งหากผู้ว่าจ้างนัดเจอผู้รับเหมาแล้วไม่เป็น/ไม่มาตามนัด หรือรับปากจะทำให้แต่ไม่ได้ทำ อีกกรณีคือสามารถติดต่อได้ยาก ปิดมือถือบ่อย และอาจจะถึงขั้นทิ้งงานในที่สุด

8. โกงเงินมัดจำ
ผู้รับเหมาบางรายจะเรียกเงินมัดจำก้อนแรกสูง ๆ เช่น 40% ของมูลค่างานทั้งหมด เมื่อได้เงินมัดจำไปแล้วก็ทิ้งงานทันทีหรืออาจจะทำงานล่าช้า ไม่ค่อยเข้างานจนผู้ว่าจ้างต้องเลิกจ้างไปในที่สุด เป็นต้น

9. แก๊งหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต
เนื่องจากปัจจุบันโลกออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้คนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหลายรายใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อการติดต่อทางธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็มีผู้ว่าจ้างที่ใช้สื่อออนไลน์ในการประกาศหาผู้รับเหมา ซึ่งทำให้ตกเป็นเหยื่อของผู้รับเหมาที่ต้องการจะหลอกลวงได้ง่าย และหากดูจากภายนอกอาจจะทำให้ดูน่าเชื่อถือพูดจาหว่านล้อมสุดท้ายก็เชิดเงินหนี

10. ฮั้วประมูล
เป็นกรณีที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำสำหรับวงการก่อสร้าง โดยผู้รับเหมามีความต้องการร่วมกันที่จะให้ราคารับเหมาไม่ต่ำจนเกินไป และในอีกกรณีคือไม่ให้ถูกตัดราคาจากผู้รับเหมาที่ยื่นประมูลร่วมกัน ทำให้ผู้รับเหมาต่างฝ่ายต่างเข้ามาคุยเพื่อหาจุดที่ลงตัวที่สุดในการประมูลซึ่งต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ แล้วค่อยแบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ การฮั้วประมูลจะทำให้ราคาค่าก่อสร้างโดยรวมดูสูงกว่าปกติจากผู้ยื่นประมูล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ว่าจ้างทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงนั่นเอง

วิธีการแก้ปัญหาและป้องกันผู้รับเหมาโกง มีดังนี้

1. เรื่องการทำสัญญา ผู้ว่าจ้างควรจะละเอียดและรอบคอบ อีกทั้งควรจะออกเอกสารให้เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ควรใช้เพียงแค่คำพูดในการสั่งงาน เพราะถ้าหากทำมาผิดจากที่ตกลงกันก็จะมีหลักฐานไว้สำหรับยืนยันกับผู้รับเหมาได้

2. ควรทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ B.O.Q. (Bill of Quantities) ที่แสดงถึงปริมาณ ราคา และแบรนด์สินค้าที่จะสั่งเข้ามาให้ชัดเจนถูกต้องตามแบบที่ต้องการ

3. ในกรณีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมาควรแบ่งจ่ายออกเป็นหลาย ๆ งวด เพื่อไม่ให้เงินที่จ่ายในแต่ละครั้งเยอะจนเกินไป และยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้รับเหมารีบทำงานให้เสร็จอีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผู้รับเหมาเชิดเงินและทิ้งงานในอนาคต

4. การจ่ายเงินมัดจำอาจจะจ่ายเพียง 10% ก่อน เพื่อดูความเชี่ยวชาญ และความถนัดของผู้รับเหมาก่อนเป็นลำดับแรก

5. ถ้าผู้รับเหมาขอเบิกเงินค่างวดล่วงหน้า หรือมีข้ออ้างว่าเงินไม่พอจะซื้อวัสดุต่าง ๆ ทำให้ก่อสร้างไปต่อไม่ได้ ผู้ว่าจ้างควรเพิกเฉยและไม่ควรใจอ่อน เพราะก่อนที่ผู้รับเหมาประเมินงาน ผู้รับเหมาต้องมีเงินสำรองพร้อมสำหรับการก่อสร้างอยู่แล้ว ถ้าผู้รับเหมาไม่มีเงินแล้วอ้างเหตุผลต่าง ๆ มากมาย ก็ควรจะเลิกจ้างเพราะอย่างไรก็ตามสำหรับผู้ว่าจ้างที่จ่ายเงินเป็นงวด ๆ ผู้ว่าจ้างยังมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับจ้างผู้รับเหมาชุดใหม่เข้ามานั่นเอง

6. ในสัญญาควรมีแผนการจ่ายเงินที่ชัดเจนว่างานผ่านไปกี่เปอร์เซ็นต์ จะจ่ายเงินอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการถกเถียงกันได้ในภายหลัง และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งยังต้องมีการรับทราบทั้งสองฝ่ายด้วย

7. ผู้ว่าจ้างควรจะเข้าไปตรวจดูงานที่ผู้รับเหมาทำบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ผู้รับเหมาทำงานออกนอกลู่นอกทาง และยังเป็นวิธีการป้องกันการโกงวัสดุก่อสร้างผิดจากที่ตกลงกันไว้ การเข้าไปดูงานควรเข้าไปแบบสุ่มเวลาไม่ควรไปเวลาเดิมทุกครั้ง และยังส่งผลให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

8. ควรคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีผลงานชัดเจนและเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สามารถมองเห็นจริง ไม่ใช่เพียงเห็นผ่านกระดาษแค่เพียงใบเดียว แล้วบอกว่าเคยผ่านโครงการเหล่านี้มา เพราะคุณอาจจะถูกหลอกลวงจากแก๊งต้มตุ๋นได้

9. ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างมีเวลา ถ้าเป็นไปได้ควรจ้างผู้รับเหมาเฉพาะค่าแรงสำหรับในส่วนการก่อสร้างเท่านั้น และสำหรับวัสดุก่อสร้างหรือตกแต่ง ผู้ว่าจ้างควรจะไปหาซื้อเอง เพื่อป้องกันปัญหาการโกงวัสดุที่จะเกิดขึ้นได้

10. สุดท้ายนี้ถ้าหากเป็นโครงการขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ผู้ว่าจ้างควรจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรหรือที่ปรึกษามาช่วยในการคุมงาน เพราะจะเข้าใจในเรื่องการก่อสร้างมากกว่า และจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาใหญ่ ๆ ที่จะตามมาได้เป็นอย่างดี