ในปัจจุบันหลายคนมักจะได้ยินคำว่า Well-being คุ้นหูกันมาเรื่อย ๆ แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กลับได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ทาง Fazwaz.co.th. จะมาให้คำตอบกันว่า แท้จริงแล้ว Well-being นั้นคืออะไรกันแน่ มีความเกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของเราอย่างไร ทำไมถึงมีแต่คนพูดว่า Well-being จะกลายเป็นเทรนด์ของบ้านในอนาคต วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

Well-being แท้จริงแล้ว คืออะไร?
แท้จริงแล้ว “Well-being” นั่นไม่ได้มีความหมายที่เป็นสากล แต่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาวะที่ดีในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ดังนี้
1. สุขภาวะทางกาย (Physical Wellbeing) หมายถึง การมีร่างกายสมบูรณ์ มีร่างกายที่แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่ป่วยและไม่พิการ
2. สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) หมายถึง การไม่เครียด การไม่วิตกกังวล รวมไปถึงการมีความพึงพอใจในชีวิต
3. สุขภาวะทางสังคม (Social Wellbeing) หมายถึง การอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง มีครอบครัวที่อบอุ่น ส่งผลให้ภายในชุมชนเข้มแข็ง สังคมมีความยุติธรรม มีความเสมอภาค มีภารดรภาพ รวมไปถึงมีสันติภาพที่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและระบบบริการสาธารณะที่ดีได้
4. สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) หมายถึง การมีทักษะชีวิต สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีโลกทัศน์ที่ถูกต้อง มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) ด้วย เช่น การรู้ผิดชอบชั่วดี การไม่ยึดถือตัวตน สามารถเข้าใจและรู้เท่าทันกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งถ้ามีมิตินี้ทำให้การเป็นมนุษย์สมบูรณ์

Well-being เกี่ยวข้องอย่างไรกับที่อยู่อาศัย?
หากเราต้องการสุขภาวะที่ดีขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่าเราต่างย่อมต้องการที่อยู่อาศัยที่พร้อมตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความทันสมัย ฟังก์ชันภายในบ้าน ที่สามารถรองรับผู้อาศัยได้ในทุกเพศทุกวัย ความสะอาด การรักษาระยะห่าง และมุมผ่อนคลายต่าง ๆ เชื่อกันว่าสุขภาพที่ดีนั้นมาจากการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในทุก ๆ วัน ซึ่งเหตุนี้เองส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ต้องหันมาพัฒนาโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้าน คอนโดมิเนียม หรืออพาร์ทเม้นท์ก็ตาม เพื่อการบริการที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ ซึ่งการเลือกที่อยู่อาศัยในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดแค่เพียงเรื่องของทำเลและราคาเท่านั้น แต่ผู้ซื้อยังให้ความสำคัญไปถึงการออกแบบ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และบริการหลังการขายอีกด้วย

มาดูกันค่ะว่า Well-being อะไรบ้างที่ผู้ประกอบการกำลังสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เลือกสรร

1. Universal Design
Universal Design การออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์แก่ผู้อาศัยทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะมีสมรรถภาพร่างกายเป็นอย่างไร ต่างสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ซึ่งประกอบไปด้วย 7 หลักการ ได้แก่

1.1 การใช้งานอย่างเท่าเทียมกัน สมาชิกทุกคนภายในบ้านสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย เช่น ทางเข้าบ้านมีทางลาดสำหรับรถเข็น หรือบริเวณห้องน้ำต้องมีพื้นที่ไม่ลื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและผู้สูงอายุ

1.2 มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน อุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันให้เหมาะกับการใช้งานของทุกคนในบ้านได้ เช่น Digital Door Lock, ก๊อกน้ำโยกเปิดปิด โต๊ะและเก้าอี้ที่มีล้อเลื่อน เป็นต้น

1.3 ใช้งานได้ง่าย มีการออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายและไม่ซับซ้อนซึ่งสะดวกกับคนในบ้าน เช่น ตู้เก็บของในห้องครัวอยู่ในระยะพอดีไม่ต้องเอื้อมสูงหรือก้มต่ำไป, สวิตช์ไฟที่มีแสง เมื่ออยู่ในที่มืดสามารถมองเห็นสวิตช์ไฟได้ชัดเจน

1.4 ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย ดีไซน์ที่ให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าคืออะไรและใช้งานได้อย่างไร เช่น การปรับเครื่องทำน้ำอุ่นด้วยการใช้สีที่คนเข้าใจทันที หรือการติดป้ายไว้ที่สวิตช์ไฟว่าคือไฟอะไร

1.5 ลดความผิดพลาด การออกแบบเพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดตั้งราวจับในห้องน้ำ เพื่อกันลื่น และราวจับที่บันได เพื่อความปลอดภัยแก่เด็กและผู้สูงอายุ

1.6 ไม่ต้องออกแรงมากก็ใช้ได้ คือการออกแบบให้ใช้งานได้ดี แม้จะออกแรงเพียงเล็กน้อย เช่น ติดตั้งประตูและหน้าต่างบานเลื่อนแบบระบบเซนเซอร์หรือระบบสัมผัส

1.7 ขนาดและพื้นที่ในการใช้งาน การออกแบบที่มีการจัดสรรขนาดของพื้นที่และขนาดข้าวของเครื่องใช้ที่เข้ากับสรีระของทุกคนในบ้าน เช่น การออกแบบเคาน์เตอร์ครัวควรลึก 60 เซนติเมตร และสูงจากพื้นถึงท็อป 90-105 เซนติเมตร เป็นต้น

2. ระบบบ้าน Smart Home แบบ Touchless
บ้านอัจฉริยะ หรือบ้านแบบ Smart Home เป็นบ้านยอดฮิตที่หลายโครงการได้ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อควบคุมระบบต่าง ๆ ภายในตัวบ้าน เช่น การสั่งเปิดปิดไฟ ตั้งเวลาซักผ้า รวมถึงการทำความสะอาดบ้าน หรือเช็คอุณหภูมิไปจนถึงการเช็คของในตู้เย็น ต่างก็ใช้แอปพลิเคชันในการสั่งงาน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการรักษาระยะห่างและลดการสัมผัสด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีในรูปแบบ Touchless เข้าไปอีกด้วย อย่างเช่น การเข้าออกโครงการโดยการใช้ระบบเซ็นเซอร์หรือการสแกนใบหน้า และการใช้ห้องน้ำสาธารณะบริเวณอ่างล้างมือให้ใช้ระบบเซ็นเซอร์โดยที่ไม่ต้องจับหรือสัมผัสใด ๆ เป็นต้น

3. Work From Home ได้อย่างอุ่นใจ
ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการมีพื้นที่ใช้สอยในบ้านที่เพียงพอ เพื่อที่จะทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด โดยคอนโดที่มีห้องขนาดใหญ่หรือทาวน์โฮมต่างได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการมีพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า แต่สำหรับพื้นที่เท่าเดิม เราสามารถปรับเปลี่ยน โซนนั่งเล่นให้ดูดียิ่งขึ้นได้

ในปัจจุบันได้มีหลากหลายโครงการใช้จุดเด่นด้านดีไซน์การออกแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันห้องให้ได้หลากหลาย เพื่อกระตุ้นให้คนสนใจ เช่น การเปลี่ยนห้องทำงานหรือห้องประชุมให้มีฉากสวย ๆ หรือห้องนั่งเล่นที่สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ออกกำลังกายได้ในยามที่ฟิตเนสปิด เป็นต้น

4. อุ่นใจใกล้หมอ
ดั่งสำนวนที่ว่าไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ หรือหากเกิดแล้วก็ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้นอกจากตัวเราแล้ว ต้องเริ่มต้นจากที่อยู่อาศัยของเราด้วย ดังจะเห็นได้ว่าโครงการต่าง ๆ เริ่มมีโปรโมชั่นบ้าน พร้อมสิทธิพิเศษหรือบริการต่าง ๆ ที่ผูกกับโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น บริการแพทย์และพยาบาลเพื่อมารักษาผู้ป่วยที่บ้าน, การซื้อบ้านแถมประกันสุขภาพ, และบริการปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการเบื้องต้นที่ไม่เสียเวลาและไม่เสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดจนมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัย เช่น การพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น

5. พื้นที่สีเขียว สามารถทำสวนผักได้
เรื่องอาหารการกินเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดี และหากการมีที่อยู่อาศัยที่สามารถปลูกผักที่ปลอดสารพิษรับประทานเองได้คงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ซึ่งในบางโครงการอย่างคอนโดมิเนียมก็เริ่มที่จะมีแปลงผักปลอดสารพิษที่ลูกบ้านสามารถเก็บไปรับประทานได้ด้วยเช่นกัน

6. ประหยัดพลังงาน
บ้านที่ดีในอนาคตคือบ้านที่สามารถช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าไฟฟ้าได้ ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งสำคัญเลยคือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่สามารถช่วยกักเก็บพลังงานได้ นอกจากนั้นดีไซน์ของบ้านก็สำคัญเฉกเช่นกัน ตัวบ้านควรสร้างตามทิศทางลมและหลีกเลี่ยงแสงแดด รวมไปถึงการมีผนังกันความร้อนสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ดี เป็นต้น

7. เพิ่มความเป็นส่วนตัวในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น
สุขภาวะทางสังคมที่สำคัญ จำเป็นต้องมาพร้อมการมีสุขภาวะทางกายและทางจิตที่ดีควบคู่ไปด้วย นำมาซึ่งการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัส พร้อมการสร้างความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น เช่น การมีพื้นที่ Co-Working Space ที่สามารถนั่งทำงานคนเดียวหรือสามารถทำเป็นกลุ่มเล็ก ๆ, การจัดว่างอุปกรณ์ในฟิตเนสควรมีระยะห่างที่พอดี, รวมไปจนถึงการเข้าออกส่วนต่าง ๆ สามารถลดการสัมผัสแบบ Touchless ได้ เป็นต้น

8. การชมบ้านเสมือนจริง
หลากหลายโครงการได้ปรับเปลี่ยนการเยี่ยมชมบ้านจริง ๆ เป็นการชมบ้านผ่านรูปแบบออนไลน์ซึ่งเปรียบเสมือนจริงมาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ 360 องศา, ชมบ้านแบบ 3 มิติ, ชมบ้านแบบ VR และชมบ้านด้วยเทคโนโลยี Mixed Reality (MR) ซึ่งเป็นการนำเอาเทคนิคภาพดิจิทัลกราฟิกมาซ้อนทับกับสภาพแวดล้อมรอบข้างได้สมจริง เสมือนการลงพื้นที่จริง และตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ปลอดภัยรักษาระยะห่าง และงดการเดินทางได้ดีมากขึ้น

ในปัจจุบันนี้นักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มนำกระแส Well-being มาปรับใช้ในการออกแบบ เพื่อเป็นจุดขาย และเพื่อต้องการตอบโจทย์แก่ผู้อาศัยที่รักสุขภาพ นอกจากนั้นยังช่วยผ่อนคลายความกังวลใจในการอาศัยได้อีกด้วย ซึ่งรับรองได้ว่าในอนาคตเทรนด์การตกแต่งบ้านแบบ Well-being จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากแน่นอนค่ะ