สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ในปีนี้ สังเกตได้ว่า แผนการลงทุนโครงการใหม่แต่ละบริษัท ที่ทำอสังหาริมทรัพย์ ได้หันมาเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้ออย่างจำกัด (Affordable Segment) เพราะผลประเมินว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องใช้เวลาข้ามปี ในปีนี้จึงต้องประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด เพื่อตอบโจทย์สภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัว และรายได้ที่ลดลงของผู้ซื้อ โดยตั้งราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท ไปจนถึง 3 ล้านบาท

“Affordable Segment”

ข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการเคหะแห่งชาติในปี 2563 ระบุว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนกรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ 37,750 บาทต่อเดือน หากคิดตามความสามารถในการกู้ คนกลุ่มนี้จะสามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า อุปทานบ้านจัดสรรในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงราคา 1 – 3 ล้านบาท มีทั้งหมดประมาณ 14,173 ยูนิต ขายไปแล้ว 8,735 เหลือขายทั้งหมด 5,438 ยูนิต สำหรับคอนโดมิเนียม มีทั้งหมดประมาณ 103,034 ยูนิต ขายไปแล้ว 73,674 ยูนิต เหลือขายทั้งหมด 29,360 ยูนิต จึงยังมีโอกาส ที่จะขายต่อไปได้ในอนาคต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

จากการประชุมในวันอังคาร ที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องมาตรการรัฐ ในการลดค่าโอน-จำนอง เบื้องต้นคาดว่าจะต่ออายุลดค่าโอน-จำนองเหลือเพียง 0.01% ออกไปอีก 1 ปี สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยคงเกณฑ์เดิมไว้ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ เฉพาะที่อยู่อาศัย ราคา 3 ล้านบาท

“Affordable Segment”

แต่ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น การพิจารณาสินเชื่อต่าง ๆ ก็โดนปฏิเสธมากถึง 80% ถือว่าเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากในรอบหลายปี และทางธนาคารได้เพิ่มกฏเกณฑ์ พิจารณาสินเชื่อ โดยนำปัจจัยเสี่ยงของบริษัทเป็นองค์ประกอบ เพราะหลาย ๆ ธุรกิจปิดกิจการ หรือลดเงินเดือนพนักงาน เช่น นักบิน พนักงานต้อนรับสายการบิน ทำให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้แต่กลุ่มแพทย์ก็ตาม เรื่องนี้จึงถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายของวงการอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโนเบิล, แสนสิริ, ศุภาลัย และเอพี ที่มองว่าเป็นทางรอดในปี 2564 เพื่อที่จะขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม “Affordable Segment” ในการผลักดันยอดขายให้ทะลุ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้