ในช่วงปีที่ผ่านมา มีคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ขึ้นมากมาย ในบริเวณรอบนอกเมือง และปริมณฑลที่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง ซึ่งขยายออกไปจากใจกลางเมือง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งทางเหนือของกรุงเทพฯ คอนโดมีจำนวนห้องพักมากถึง 4,400 ยูนิต คิดเป็น 21% ของคอนโดใหม่ทั้งหมด

บทสรุปตลาดอสังหาฯ ปี 63 จากเน็กซัส

เมื่อพิจารณาในด้านยอดขายในปี 2563 ยอดขายคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 32,800 ยูนิต โดยแบ่งเป็นยอดขายจากห้องชุดที่เปิดใหม่ในปี 2563 จำนวน 9,100 ยูนิต เฉลี่ยอยู่ที่ 45% และห้องชุดที่เปิดขายก่อนปี 2563 มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 23,700 ยูนิต ทำให้อัตราขายรวมในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 93% ส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะซื้อเป็นคอนโดเพื่ออยู่อาศัย มากกว่าเพื่อการลงทุน และการเก็งกำไรแทบจะหายไปจากตลาดอย่างสิ้นเชิง

บทสรุปตลาดอสังหาฯ ปี 63 จากเน็กซัส

จุดเปลี่ยนสำคัญในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในด้านของอุปทาน ส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยน และพัฒนาคอนโดมิเนียม ให้มีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มคนไทย โดยเทรนด์นี้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ทำให้บริเวณสุขุมวิทตอนปลาย เกิดอุปทานขึ้นมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนคอนโดมิเนียมใหม่ในตลาด แต่ในทางกลับกัน  คอนโดมิเนียมบริเวณใจกลางเมืองย่านสาทร ซอยหลังสวน และย่านสุขุมวิทตอนต้น มีคอนโดใหม่เกิดขึ้นเพียง 11% หรือประมาณ 2,250 ยูนิตเท่านั้น

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เผยว่า
  “ปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมมีการปรับตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมีอยู่ 2 ประการ คือ การชะลอตัวของตลาดจากกำลังซื้อที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2562 ผนวกกับสถานการณ์โควิด–19 ด้วย”

ทั้งนี้พบว่ามีคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2563 เกิดขึ้นเพียง 20,100 ยูนิต อัตราการเพิ่มขึ้น 39% จาก 64 โครงการ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคอนโดเกิดขึ้น 51,000 ยูนิตต่อปี และการเพิ่มขึ้นในปี 2563 ส่งผลให้คอนโดมิเนียมมีหน่วยสะสมในตลาดทั้งสิ้น 647,100 ยูนิต ส่วนสาเหตุการชะลอตัวของอุปทานใหม่ในตลาด มาจากโครงการที่เลื่อนการเปิดตัว หรือหยุดโครงการไปถึง 5,800 ยูนิต หรือ 18 โครงการ คิดเป็น 29% ของคอนโดในตลาดที่เปิดใหม่ในปี 2563

บทสรุปตลาดอสังหาฯ ปี 63 จากเน็กซัส

โดยสัดส่วนคอนโดมิเนียมระดับกลาง (mid market) และซิตี้คอนโดมีถึง 60% และตลาดใหม่คอนโดราคาย่อมเยา บนทำเลนอกเมือง (affordable market) ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร มีจำนวนถึง 3,600 ยูนิต คิดเป็น 18% ของอุปทานใหม่ในปี 2563 ในขณะเดียวกัน ก็ลดสัดส่วนคอนโดในระดับไฮเอนด์และลักซ์ชัวรี่ลงเป็นอย่างมาก เหลือเพียง 22% ของคอนโดฯ ใหม่ในตลาดทั้งหมด

บทสรุปตลาดอสังหาฯ ปี 63 จากเน็กซัส

สรุปปัจจัยหลักที่กระตุ้นยอดขาย คือ การลดราคาของผู้ประกอบการ โดยปรับตัวลดลงตั้งแต่ครึ่งปีแรกในอัตรา 16% และปรับลดลงอีก 4% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ไตรมาสที่ 4 มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบราคาที่ลดลงตลอดทั้งปี พบว่าราคาคอนโดมิเนียมในตลาดลดลงถึง 11% จาก 141,800 บาทต่อตารางเมตรในปี 2562 เป็น 126,900 บาทต่อตารางเมตร ในปี 2563 สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับลดลงนั้น มาจากการที่ผู้ประกอบการปรับลดราคาเพื่อระบายสต๊อก และโครงการใหม่ ๆ ที่เปิดตัวเป็นโครงการระดับกลาง และ Affordable Condo ที่ตอบรับกับความสามารถในการซื้อส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ มากขึ้นด้วย