ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็ให้ความสนใจในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ในขณะเดียวกันสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นก็ได้สร้างขยะจำนวนมหาศาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การจัดการปริมาณขยะจึงเป็นความท้าทายอย่างมากที่ทำให้มนุษย์เกิดความตระหนักและมีไอเดียใหม่ ๆ ในการนำวัสดุจากขยะกลับมาใช้ใหม่ ดังเห็นได้ชัดจากเรื่องเสื้อผ้าและรองเท้าที่มีแบรนด์ชั้นนำได้นำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้กับผลิตภัณฑ์สินค้าของตัวเอง ซึ่งกระแสนี้ไม่ได้หยุดเพียงในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงแวดวงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยด้วยเช่นเดียวกัน

ขยะล้นเมือง

ประเทศเคนยานับเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องการจัดการขยะระดับวิกฤต เนื่องจากปัญหานโยบายทางการค้าที่เปิดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถนำขยะประเภทต่าง ๆ มาไว้ที่ประเทศเคนยาได้ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองและปัญหามลภาวะที่ตามมาอีกมากมาย ในขณะเดียวกันการที่จะรอให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยหน่วยงานของทางการนั้นดูจะช้าและสายจนเกินไป วิศวกรอย่าง Nzambi Matee จึงได้ใช้ความรู้ทางวัสดุศาสตร์มาจัดตั้งเป็นบริษัท Gjenge Makers เพื่อนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นก้อนอิฐ ซึ่งมีประสิทธิภาพที่แข็งแรงกว่าคอนกรีตถึง 7 เท่า โดยทางบริษัทสามารถนำขยะพลาสติกจำนวนมากกว่า 20 ตันมาผ่านกระบวนการผสมกับทรายและบีบอัดให้เป็นก้อนอิฐ โดย Nzambi ให้สัมภาษณ์อีกว่า นอกจากโครงการของเธอจะช่วยลดปริมาณขยะในเคนยาลงแล้ว ก้อนอิฐที่สร้างขึ้นจะสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างบ้านให้ผู้คนในประเทศเคนยาได้มีที่อยู่อาศัยในราคาที่ไม่แพงด้วยเช่นกัน

วิศวกรชาวเคนยา

อีกโครงการที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการนำขยะพลาสติกมาใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัย โดยเป็นโครงการของ Byfusion ซึ่งได้นำเอาขยะพลาสติกมาบีบอัดให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือที่เรียกว่า Byblock โดยอิฐชนิดนี้สามารถนำมาจัดเรียงให้เป็นกำแพงของบ้านได้ โดยทางบริษัท Byfusion ตั้งเป้าหมายว่าจะทำการรีไซเคิลพลาสติกจำนวน 100 ล้านตันให้ได้ภายในปี 2030

อิฐ Byblock

และอีกหนึ่งโครงการที่มีการทำในกลุ่มอาสาสมัครในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ผ่านไอเดียง่าย ๆ ที่แปลงขวดให้เป็นอิฐ หรือเรียกว่า Eco brick คือการนำเอาขวดพลาสติก PET หรือที่เรารู้จักกันในรูปของขวดน้ำดื่มที่ไม่ใช้แล้ว นำมาบรรจุเศษขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น ถุงพลาสติก ซองขนม หลอด มาอัดแน่นจนขวดไม่สามารถเปลี่ยนรูปได้ ซึ่งจะทำให้ขวดนั้นมีความแน่นหนาและแข็งแรงต่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้นำไปก่อแทนอิฐโดยใช้ปูนเป็นตัวประสาน ซึ่งสามารถช่วยลดขยะและค่าอิฐก่อสร้างได้อีกด้วย

Eco brick

วันนี้ทาง Fazwaz ได้นำวิธีการทำ “Eco bricks” แบบง่าย ๆ มาฝากกัน
1.ทำความสะอาดขวดพลาสติกที่จะใช้ (ขนาด 500 มิลลิลิตร – 2 ลิตร) แล้วตากให้แห้ง
2.รวบรวมขยะที่จะนำมาบรรจุใส่ขวดอัดให้แน่นโดยใช้ไม้ยาว ๆ อัดให้แน่นจนขวดแข็ง ไม่สามารถบีบหรือบิดได้

วิธีทำ Eco brick

ข้อควรระวัง *ขยะที่บรรจุลงไปต้องเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ถุงขนม เปลือกลูกอม พลาสติก ฟิล์ม โฟม ถุง หลอด เป็นต้น และข้อจำกัดของ Eco brick คือการไม่ทนไฟและไม่สามารถทนความร้อน ซึ่งวิธีการรับมือของการใช้อิฐประเภทนี้ คือ การฝัง Eco brick ปิดไว้ข้างในตัวสิ่งก่อสร้าง แล้วฉากปูนทับแทนที่จะเปิดออกมานั่นเอง

กำแพงบ้านจาก Eco brick

ดังจะเห็นได้ว่า นวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโครงการที่สามารถช่วยลดปริมาณขยะบนโลกของเรา และยังนำเอาขยะกลับมาใช้ใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ในด้านที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี และแนวโน้มในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้กันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งการเน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกให้น้อยที่สุด หากสนใจบทความดี ๆ ฝากติดตามกันต่อได้ที่ Fazwaz.co.th