ซื้อบ้านมือสองต้องเปย์ค่าอะไรบ้างนะ
อยากซื้อบ้าน อยากมีบ้านเป็นที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และตัดสินใจที่จะเลือกซื้อบ้านมือสองสักหลังนั้น คุณรู้หรือไม่ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ต้องเตรียมอะไรบ้างในการขอสินเชื่อ และหลังจากได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารแล้วนั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกบ้าง คิดว่าหลาย ๆ คนก็คงสงสัยและเกิดคำถามเหล่านี้กันอย่างแน่นอน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายหลัก ๆ อันได้แก่ ค่าบ้าน ค่าโอน ค่าตกแต่งบ้าน เป็นต้น สำหรับบทความที่จะนำมาฝากกันในวันนี้ BaanThai ก็ได้รวบรวมคำตอบเหล่านั้น ไว้สำหรับใครที่กำลังจะซื้อบ้าน หรือกำลังจะโอนบ้าน ได้มีเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง หรือว่าจะต้องเตรียมอะไรอีกหรือเปล่า จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามกันเลยนะคะ
1. สิทธิ์การใช้และเงินประกันประปาและไฟฟ้า การซื้อบ้านมือสอง นอกจากการตรวจเช็คกรรมสิทธิ์ของผู้ขายที่อยู่หลังโฉนดแล้ว เราควรที่จะมีการตรวจสอบสิทธิ์การใช้และเงินประกันของประปาและไฟฟ้า อันนี้ก็นับว่าเป็นอีกข้อหนึ่งที่ควรนึกถึง คุณควรที่จะเช็คสิทธิ์ดังกล่าวโดยสอบถามเรื่องสิทธิ์การใช้และเงินประกันค่ามิเตอร์ประปาและไฟฟ้าจากเจ้าของบ้านคนเก่าให้เรียบร้อย หากเจ้าของบ้านคนเก่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว คุณก็จะสามารถทำการโอนกรรมสิทธิ์นั้นให้มาเป็นของคุณ(ผู้ซื้อรายใหม่)ได้ทันที แต่จะต้องมีการเตรียมเอกสารและเตรียมค่าใช้จ่าย ดังนี้
การโอนกรรมสิทธิ์การใช้ประปา
1. ผู้รับโอน สามารถไปยื่นคำร้องขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ส่วนบริการการใช้น้ำประปาสำนักงานประปาสาขาในพื้นที่ของบ้านหลังที่คุณซื้อพร้อมเอกสารประกอบการขอโอน ดังนี้
1.1.สำเนาสัญญาซื้อขายทด.13(ระบุบ้านเลขที่)
1.2.สำเนาบัตรประชาชนผู้โอนและผู้รับโอน
1.3.สำเนาทะเบียนบ้านผู้โอนและผู้รับโอน
1.4.ใบเสร็จค่าน้ำเดือนสุดท้าย(ถ้ามี)
2.ในกรณีที่ผู้โอนยินยอมโอนเงินประกันให้แก่ผู้รับโอน ผู้โอนต้องเซ็นต์ชื่อสลักหลังใบเสร็จเงินประกันการใช้น้ำฉบับจริง หากเงินประกันของผู้มีกรรมสิทธิ์เดิมยังคงอยู่ครบเต็มจำนวน ผู้รับโอนไม่ต้องวางเงินประกันใหม่ก็ได้ โดยใช้เงินประกันของผู้มีกรรมสิทธิ์เดิมค้ำประกันไว้ตามเดิม แต่เมื่อใดที่ผู้มีกรรมสิทธิ์เดิมขอรับเงินประกันคืน ผู้รับโอนจำเป็นต้องวางเงินประกันใหม่
3. ในการโอนกรรมสิทธิ์ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพียงแต่ในรายที่ไม่มีใบเสร็จค่าประกันการใช้น้ำเดิม พร้อมการเซ็นต์สลักหลังจากผู้มีกรรมสิทธิ์เดิมมาแสดง หากไม่สามารถหาผู้มีกรรมสิทธิ์เดิมได้ ผู้ใช้น้ำต้องวางเงินประกันการใช้น้ำใหม่ตามขนาดของมาตรวัดน้ำ
2. ค่าจดจำนองบ้าน จำนอง คือ สัญญากู้เงินชนิดหนึ่ง ที่ใช้หลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ (เช่น โฉนดที่ดิน บ้าน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น) โดยสัญญาจำนองนี้จะต้องไปทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน เท่านั้นนะคะ โดยมีวิธีคิดค่าจดจำนองบ้าน คือ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน คิด 1% ของวงเงินจำนอง แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท
หมายเหตุ ค่าจดจำนองนี้จะจ่ายต่อเมื่อผู้ซื้อทำการกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารเท่านั้น หากผู้ซื้อทำการซื้อบ้านด้วยเงินสดผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายค่าจดจำนอง
3. ค่าประเมินราคาบ้าน ในส่วนของค่าประเมินราคาบ้านจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ผู้ซื้อทำเรื่องกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร เพื่อทำการประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นอีกส่วนหนึ่งในการยื่นขอสินเชื่อกับทางธนาคาร โดยทางธนาคารจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สินของทางธนาคารเดินทางไปประเมินราคาบ้านหลังที่ผู้ซื้อนำมายื่นขอสินเชื่อจากทางธนาคาร โดยในขั้นตอนนี้ทางผู้ซื้อจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าบริการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อทำเรื่องกู้ซื้อบ้านต่อไป
4. ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีรายได้ ค่าอากร หรือ ค่าธุรกิจเฉพาะ ในวันที่เราจะทำการโอนบ้านที่สำนักงานที่ดินนั้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน ที่ดิน ที่เราจะต้องจ่าย มีดังต่อไปนี้คะ
4.1. ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย ราคาไหนสูงกว่าก็ใช้ราคานั้นคิด
4.2. ค่าอากร 0.5% ของราคาซื้อขาย แต่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินถ้าต่ำกว่าให้ใช้ราคาประเมินราชการคำนวณ
4.3. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาซื้อขาย จะคิดกับอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาแล้วขายออกไปภายในเวลา ไม่เกิน 5 ปี (หากมีการย้ายชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์หลังโฉนดเข้าทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 ปี ได้รับยกเว้นค่าภาษีนี้) ทรัพย์สินที่เสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะนี้แล้ว ไม่ต้องเสียค่าอากรในข้อ 2
4.4. ค่าภาษีเงินได้ (ภงด.) มีการคิดแบบ ขั้นบันไดภาษี หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามจำนวนปีที่ถือครอง อันนี้จะมีหลายขั้นตอนมาก เจ้าหน้าที่จะช่วยคิดให้เองค่ะ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าคำขอ 20บาท ค่าอากรตาม ป.37 5 บาท ค่าพยาน 20บาท
5. ค่าประกันอัคคีภัย ปัจจุบันการยื่นขอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยจากธนาคารนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าประกันอัคคีภัยด้วยกันทั้งนั้น เพราะถือว่าเป็นนโยบายของธนาคารเลยก็ว่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบริษัทประกันในเครือของธนาคารนั้น ๆ
6. MRTA ประกันชีวิต ก็คือ ประกันสินเชื่อบ้านแบบลดมูลค่า แต่สถาบันการเงินอาจจะให้ชื่อว่า ประกันชีวิตคุ้มครองทรัพย์สิน หรือชื่ออื่น ๆ ตามแต่จะเรียกในส่วนของค่าประกันชีวิต แตกต่างจากประกันอัคคีภัยตรงที่ ประกันอัคคีภัยเป็นการทำประกันคุ้มครองทรัพย์สิน แต่ประกันชีวิตจะคุ้มครองในส่วนของผู้ถือกรรมสิทธิ์หลังโฉนด เนื่องจากการผ่อนชำระค่าบ้านเป็นการผ่อนระยะยาว ในบางรายเลือกผ่อนยาวนานถึง 30 ปี ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาการผ่อน ในบางธนาคารอาจมีนโยบายให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทำประกันเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย โดยการชำระค่าเบี้ยประกันประเภทประกันชีวิตนี้โดยส่วนใหญ่ ทางธนาคารจะให้เลือกชำระได้ 2 แบบ แบบที่ 1 คือแบ่งจ่ายเป็นงวด ด้วยการผ่อนค่าเบี้ยประกันพร้อมกับค่าผ่อนบ้านก็ได้ หรือแบบที่ 2 คือผู้กู้สามารถชำระเป็นเงินสดเฉพาะค่าเบี้ยประกันในวันที่โอนบ้านก็ได้
7. ค่าส่วนกลาง คือ เงินที่ทางนิติบุคคลหรือเจ้าของโครงการสามารถที่จะเรียกเก็บจากลูกบ้านทุกหลังในทุก ๆ ปี เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปบำรุงส่วนกลางต่าง ๆ ที่ลูกบ้านใช้ร่วมกัน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าแสงสว่างส่วนกลาง ค่าบริหารจัดการหมู่บ้าน ค่าพนักงานหมู่บ้าน ค่าจัดเก็บขยะ ค่าพนักงานรักษาความปลอดภัย ค่าพนักงานรักษาความสะอาด เหล่านี้เป็นต้น และทางผู้ซื้อควรตรวจสอบเรื่องค่าส่วนกลางที่คงค้างกับนิติหมู่บ้านให้ดีก่อน เนื่องจากบ้านบางหลังทางผู้ขายอาจจะไม่ได้เข้าอยู่เป็นเวลาหลายปี ดังนั้น ระหว่างที่เจ้าของบ้านคนเก่าไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านอาจจะมีค่าส่วนกลางที่ยังไม่ได้ชำระอยู่ ซึ่งหากเจ้าของบ้านคนเก่าไม่ได้ชำระมากกว่า 6 เดือน ทางนิติหมู่บ้าน มีสิทธิ์ที่จะแจ้งอายัดการโอนบ้านกับกรมที่ดิน จึงทำให้ไม่สามารถโอนบ้านได้