จากอานิสงส์ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง เพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองมีการขยายตัวสูงขึ้นส่งท้ายปีที่ผ่านมาในไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2564 โดยทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ได้เปิดเผยซัพพลายจำนวนยูนิตประกาศขายเฉลี่ย 1.4 แสนยูนิตต่อเดือน มูลค่ากว่า 9.9 แสนล้านบาทด้วยกัน 

แผนภูมิจำนวนยูนิตมือสองที่ประกาศขายในแต่ละไตรมาส
แผนภูมิจำนวนยูนิตมือสองที่ประกาศขายในแต่ละไตรมาส
มูลค่าอสังหาริมทรัพย์มือสองที่ลงประกาศขายในแต่ละไตรมาส
มูลค่าอสังหาริมทรัพย์มือสองที่ลงประกาศขายในแต่ละไตรมาส

โดยทาง REIC ได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ เช่น จากการประกาศขายผ่านเว็บไซต์บริษัทภาคเอกชนที่มีวอลลุ่มการขายในปริมาณมาก, ข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน, บริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐและเอกชน และกรมบังคับคดี เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมในตลาดมากที่สุด ซึ่งพบว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศขายเป็นประเภทบ้านเดี่ยว 14.4% รองลงมาเป็นทาวน์เฮ้าส์ 12.5% คอนโด 11% บ้านแฝด 5.1% และอาคารพาณิชย์ 4%

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากที่ภาครัฐได้ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยจากเดิมมีผลเฉพาะที่อยู่อาศัยสร้างใหม่เท่านั้น ก็ได้มีการเพิ่มเติมสิทธิ์ครอบคลุมมาถึงที่อยู่อาศัยมือสองอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มีการผ่อนปรนมาตรการ LTV 100% เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในปีนี้ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหากจัดอันดับตามมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน ของที่อยู่อาศัยมือสองที่มีการประกาศขายในไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2564 พบว่า 10 จังหวัดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, เชียงใหม่, ปทุมธานี, สุราษฎร์ธานี, ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร