วิธีเลือกดูบ้านมือสอง  

เมื่อตกลงปลงใจ แน่แท้แล้ว ที่จะซื้อ บ้านมือสอง สิ่งที่ต้องตัดสินใจ ลำดับต่อไป ก็จะเป็นในส่วนของการระบุถึงทำเลที่ตั้ง ประเภทของบ้าน ว่าจะเป็นบ้านแบบไหน บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวเฮ้าส์ หรือคอนโด เป็นต้น และรองลงมาก็จะเป็นการกำหนดราคาโดยประมาณเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ทำการบ้าน เพื่อทำการเปรียบเทียบ และตอบโจทย์ความต้องการของเราให้มากที่สุด อย่าลืมว่าบ้านนั้น เป็นหนี้ก้อนใหญ่ ที่เราจะต้องรับภาระไปเกือบตลอดชีวิตนะคะ

อันดับแรกเลย ก็จะเป็นการหาข้อมูล โดยการสอบถามจากเพื่อน ๆ  ญาติสนิทก่อนและก็หาจากสื่อ โซเชียล เฟสบุ๊ค จาก เวปไซต์ หรือไม่ก็จากนิตยสารบ้านต่าง ๆ (ถ้าสมัยนี้เรายังซื้อนิตยสารอ่านกันอยู่นะคะ) โดยสามารถเลือกค้นหาได้จากทำเลที่ตั้งที่ห่างไม่ไกลจากสถานที่ทำงานเพื่อจะได้เดินทางไป ทำงาน สะดวก ไม่เลือกทำเลยที่อยู่ในชุมชนเมืองที่แออัดจนเกินไป ประเภทของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ หรือ คอนโด เป็นต้น ส่วนราคาก็คิดว่าทุก ๆ ท่าน คงต้องมีการตั้งเป้าหมายไว้แน่นอน ว่าเราต้องการบ้าน แบบไหน ในงบประมาณเท่าไหร่

เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เราก็จะต้อง ออกสำรวจพื้นที่จริง โดยการขับรถ ตระเวนหาบ้าน ตามหมู่บ้านต่าง ๆ หรือตามข้อมูลที่เรา ได้ค้นหาไว้แล้ว สำหรับในช่วงนี้ เราก็สืบเสาะหาบ้านไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาสักประมาณ 2- 4 เดือน ไม่ต้องรีบร้อน

ที่สำคัญ เราควรคำนึง ถึงบรรยากาศโดยทั่ว ๆ ไป ในหมู่บ้าน และรอบ ๆ บริเวณบ้าน สิ่งอำนวยความสะดวก ต่าง ๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย มลภาวะเป็นพิษหรือไม่ และบรรยากาศน่าอยู่หรือไม่ หลังจากนั้น ก็อาจจะโทรติดต่อนัดหมายเจ้าของบ้านหรือนายหน้า เพื่อขอดูบ้านจริง ๆ

คุณไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อจากเจ้าของบ้านโดยตรง หรือว่า ซื้อจากนายหน้า แบบไหนจะดีกว่ากัน หรือถ้าจะซื้อจาก นายหน้าแล้ว ราคาจะแพงขึ้นอันนี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไปอยู่ที่การพูดคุย เจรจาต่อรองด้วยเหมือนกัน การซื้อจากเจ้าของโดยตรงอาจไม่ง่ายไม่ถูกเสมอไปเช่นกัน การซื้อจากนายหน้าก็มี ข้อดี คือ บริษัทนายหน้า เขาก็จะทำการคัดสรรบ้านตามงบประมาน และความต้องการของเรามาส่วนหนึ่งแล้ว คือ ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งถ้าบ้านมีราคาแพงมาก ๆ ก็ ไม่ง่ายนักในการที่จะขายได้สักหลังหนึ่ง  และที่สำคัญ นายหน้า ก็จะอำนวยความสะดวก ด้านการเตรียมเอกสาร การเตรียมสัญญาการจะซื้อจะขาย และการกู้ธนาคารรวมไปถึง ขั้นตอนในการโอนอีกด้วย และการซื้อจากเจ้าของโดยตรง ก็ใช่จะง่ายและถูกเสมอไป เจ้าของบ้านบางคนก็เรื่องมากขายแพงก็มี ทั้งนี้ เราก็ต้องงัดกลยุทธ์ และเทคนิคการต่อรอง ของเราออกมาใช้ด้วยเหมือนกัน

เมื่อได้บ้านตามที่เราต้องการแล้ว ก็นัดหมายกัน เพื่อขอดูบ้านจริง โดยสามารถสรุปหัวข้อที่ควรตรวจเช็คได้ ดังต่อไปนี้

1. การนัดหมายเพื่อเข้าดูบ้าน ในจุดนี้เราควรจะดูโครงสร้างของบ้าน ว่ามีรอยร้าว รั่วซึมหรือไม่  การตกแต่งวัสดุอุปกรณ์เสริม ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย (ถ้าไม่แน่ใจ ก็อาจจะให้ ญาติ หรือเพื่อน ๆ ที่มีความชำนาญ มาช่วยดูก็ได้นะคะ) โดยเฉพาะเรื่อง โครงสร้างของบ้าน  และระบบงานในตัวบ้าน เบื้องต้น คงจะไม่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาดูหรอก เพราะเรื่องโครงสร้าง ถ้าเป็นบ้านจัดสรรโครงการเดียวกัน สวนใหญ่จะเหมือน ๆ กัน อาจจะใช้วิธีสอบถามบ้านใกล้ ๆ เมื่อมั่นใจว่าจะซื้อจริงถ้าเราจะจ้างวิศวกร  ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจบ้าน มาอีกทีก็ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้จะให้บริการมากมาย ตามลิ้งค์นี้ได้เลยนะคะ  บริษัทรับตรวจสอบบ้าน click 

2. สำรวจบริเวณ รอบ ๆ บ้าน เมื่อมีความพึงพอใจในระดับหนึ่งแล้ว สำหรับภายในบ้าน ก็ควรที่จะสำรวจ รอบ ๆ ชุมชน หรือโครงการนั้น ๆ ว่าทำเลที่ตั้ง ใกล้กับอะไรบ้าง เช่น ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ ใกล้ร้านอาหาร หรือใกล้ที่ทิ้งขยะไหม มีสถานที่จอดรถ สะดวกไหม ตัวบ้านหันหน้าไปทางทิศไหน เป็นต้น

3. ต้องมาดูสภาพแวดล้อมหลาย ๆ ครั้ง หมั่นเข้ามาตรวจดู บริเวณรอบ ๆ บ้าน ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น ช่วงฝนตกมีน้ำขังไหม ในช่วงกลางคืนบรรยากาศ อึกทึกคึกโครม เสียงดังไหม พยายามหาข้อมูลรอบด้าน ถามไถ่คนที่อาศัยแถวนั้นว่าเพื่อนบ้านเรานั้น ทำงานอะไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร เพราะการที่มีเพื่อนบ้านดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแน่นอน

4. สำเนาโฉนด เมื่อได้โอกาสดีและมั่นใจที่จะซื้อบ้านหลังนั้นแล้ว ก็ขอดูโฉนดหรือขอถ่ายสำเนาโฉนด เพื่อเราสามารถนำสำเนาโฉนดไปเช็คเบื้องต้น ได้ว่าติดอายัดไหม เช็คสถานะโฉนดชื่่อเจ้าของ เป็นต้น

5. ปรึกษาธนาคาร เมื่อเราได้ข้อมูลมามากพอสมควรแล้ว และพอใจกับราคาของบ้านหลังนั้น ๆ ก็สามารถนำสำเนาโฉนด และรายละเอียดเบื้องต้น ไปปรึกษากับธนาคารที่จะยื่นกู้  (ถึงขั้นตอนนี้ก็ต้องเลือกสรรธนาคาร และหาข้อมูลเปรียบเทียบด้วยเช่นกัน ว่าธนาคารไหน ให้ดอกเบี้ยหรือมีโปรโมชั่นอะไรหรือไม่) ที่สำคัญใช้สาขาใกล้ กับบ้านที่จะซื้อได้ก็ดี ทางธนาคารก็จะให้คำปรึกษาเบื้องต้น ว่าจะกู้ได้ไหม กู้ได้ประมาณเท่าไร และจะต้องผ่อนกับธนาคาร กี่ปี ขาดเหลือแล้ว เราจะต้องใช้เงินดาวน์ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่่งต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านั้น เราควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อม หาข้อมูลเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็น  แบบบ้าน หรืองบประมาน รวมไปถึง การตรวจเช็คบ้านให้ละเอียดรอบคอบ สุดท้ายก็จะเป็น การหาธนาคาร ว่าเราควรจะยื่นกู้บ้านกับธนาคารไหนดี เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ เป็นอย่างไรบ้างคะ กับเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ที่นำมาฝากกัน เราควรจะมีความพร้อมเสมอ ในทุก ๆ ด้าน ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสอง นะคะ